ต.ค. 112012
 

ชะพลู คิดว่าคนที่เคยทานเมี่ยง แหนมคลุก คงรู้จักสมุนไพรไทยชนิดนี้กันดี ด้วยความหอมและรสชาติที่โดดเด่น เหมือนถูกดีไซน์มาไว้ทานกับอาหารพวกนี้โดยเฉพาะ ผมเองก็เป็นคงหนึ่งที่ชอบมาก (คิดแล้วน้ำลายไหล) แต่นอกจากรสชาติและความเข้ากันกับอาหารจำพวกเมี่ยงนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่คู่กันคือคุณค่าของชะพลู สมุนไพรไทยชนิดนี้มีดีตรงไหนบ้างเราลองมาดูกัน

ลักษณะของชะพลู

ชะพลูชื่อวิทยาศาสตร์ของชะพลู Piper sarmentosum Roxb.

ชื่อวงศ์   Piperaceae

ชื่ออื่นๆ   ปูนก,ปูลิง (ทางภาคเหนือ)  ,ช้าพลู (ภาคกลาง) ,นมวา(ภาคใต้) และผักอีเลิศ (ทางอิสาน)

จะเห็นได้ว่าชะพลูมีชื่อเฉพาะ หรือชื่อท้องถิ่นอยู่แทบทุกภาค ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชะพลู เป็นสมุนไพรไทยที่มีแพร่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ  ชะพลูเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก เป็นเถาไม้รวมกันอยู่เป็นกลุ่ม ลำต้นแบ่งเป็นข้อ ที่พิเศษคือตามข้อจะมีราก ไว้ช่วยลำต้นยึดเกาะ

คุณค่าทางอาหารของชะพลู

ชะพลูนอกจากทานได้อร่อยแล้วนั้นยังมีคุณค่าทางอาหารอีกเพียบ เช่นแคลเซียมที่ช่วยบำรุงระบบกระดูก วิตามินเอที่สูงมากเป็นพิเศษ จึงบำรุงสายตาได้เป็นอย่างดี และยังมีฟอสฟอรัส ธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงเลือด  เส้นใยที่ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย และยังมีสารครอโรฟิล*

*บางคนอาจบอกว่า ครอโรฟิลมีประโยชน์ยังไง เราไม่ใช่ต้นไม้สักหน่อย ไม่ต้องใช้สังเคราะห์แสง …จริงๆมันมีประโยชน์หลายอย่างนะครับ จากการศึกษาจะพบว่าสามารถช่วยลดการดูดซึมสารก่อมะเร็งของร่างกาย ทำให้ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลงได้ รวมถึงมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ไว้มีโอกาศจะเขียนเรื่องครอโรฟิล แบบเจาะลึกนะครับ

สรรพคุณด้านสมุนไพรไทยของชะพลู

ตามตำราสมุนไพรไทย บอกเอาไว้ว่าชะพลูมีสรรพคุณในการบำรุงธาตุ แก้จุกเสียด ขับลมในลำไส้ ลดความดันโลหิต และด้วยการที่ชะพลูมีรสเผ็ดร้อนจึงช่วยขับเสมหะได้เป็นอย่างดี

ข้อควรระวังในการรับประทานชะพลู

จริงๆแล้ว มันก็จากประโยชน์ของมันนั่นแหละ ก็ด้วยการที่ชะพลูมีแคลเซียมสูง หากเราทานจำนวนมาก และติดต่อกันนานนาน จะทำให้แคลเซียมสะสม กลายเป็นแคลเซียมออกซาเลท ซึ่งอาจทำให้เป็นนิ่วในไตได้ แต่หากเราทานพอดีพอดี เช่นอาทิตย์นึงทานครั้ง หรือทานบ่อย ๆแต่ทานครั้งละไม่กี่ใบ และทานร่วมกับอาหารอื่นจะทำให้เราได้ใช้แคลเซียมจากชะพลูได้อย่างเต็มที่ และไม่เป็นโทษต่อร่างกาย (ทุกอย่างต้องอยู่บนเส้นทางของความพอดี)