พ.ย. 272012
 

สวัสดีชาวเว็บไทยสมุนไพร.net ทุกท่าน ห่างหายไปหลายวันเหมือนกัน วันนี้กับมาพบกันอีกพร้อมด้วยสาระดีๆเกี่ยวกับสมุนไพรเช่นเคย วันนี้เองมาแนะนำพืชชนิดหนึ่งให้รู้จักผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยทาน แต่ก็มีหลายคนเหมือนกันที่อาจไม่กล้าทานเพราะรสขมของมัน พืชชนิดนั้นคือมะระจีนนั่นเองครับ สำหรับในเรื่องมะระเราเคยนำเสนอไปแล้วในตอน”มะระขี้นก สมุนไพรไทยที่มากกว่าแค่ทานกับน้ำพริก” แต่มะระที่จะพูดถึงในตอนนี้เป็นอีกสายพันธ์ และเป็นมะระที่นิยมทานแพร่หลายกว่า สำหรับสรรพคุณของมะระจีนเป็นอย่างไร เรามารู้จักไปพร้อมๆกันครับ

มะระ หรือ มะระจีนชื่อวิทยาศาสตร์  ของมะระจีน     Momordica charantia

ชื่อในภาษาอังกฤษ  มีหลายชื่อ เช่น balsam apple, balsam pear, bitter cucumber, bitter gourd, bitter melon (ผมชอบชื่อ bitter melon มากครับแปลตรงตามตัวคือแตงขม รู้เลยว่ารสชาติเป็นอย่างไร)

ชื่อวงศ์  Cucurbitaceae (จะสังเกตุว่าเป็นพืชวงศ์เดียวกับกับแตงกวา)

ลักษณะของต้นมะระจีน

  • ลำต้น มะระจีนเป็นพืชเลื้อยลักษณะเป็นเถา มีมือเกาะใช้ยึดพยุงลำต้นให้พันขึ้น
  • ใบ ลักษณะใบจะเป็นใบเดี่ยว สีเขียว มีของหยักๆ รูปคล้ายฝ่ามือ
  • ดอกสีเหลืองมีกลีบดอก 5 กลีบ ดอกเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ ดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่คนละต้น
  • ผล ผลของมะระจีนมีขนาดใหญ่ เนื้อหนา รูปร่างยาว รอบๆผลจะเป็นสันตะปุ่มตะป่ำประมาณ 10 สัน (ลองนับดูได้นะครับว่า 10 สันจริงไหม) ผลอ่อนสีขาว ผลแก่มีสีเขียว

สรรพคุณด้านสมุนไพรในการรักษาโรคเบาหวานของมะระจีน

มะระจีนมีสรรพคุณอยู่มากทีเดียว แต่สรรพคุณที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของมะระจีนคือ มีคุณสมบัติในการบำบัดและรักษาโรคเบาหวานในระยะเริ่มต้น จากการศึกษาพบว่ามะระจีนจะช่วยเพิ่มเบต้าเซลล์(beta-cell)ในตับอ่อน โดยการกระตุ้นให้เกิดการสร้างฮอร์โมนอินซูลิน (insulin Hormone) ที่เป็นฮอร์โมนสำคัญในในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด  และในมะระจีนยังมีเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรต ซึ่งสรรพคุณเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเบาหวานในระยะเริ่มต้นเป็นอย่างยิ่ง (แนะนำให้รักษาควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบันนะครับ)  สำหรับการใช้ในการรักษา เราจะใช้เนื้อมะระตากแห้งชงน้ำดื่ม หรือเพื่อเพิ่มรสชาติสามารถผสมกับชาอื่นๆได้

สรรพคุณด้านสมุนไพรอื่นๆ

  • ผล  มีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และนอกจากนั้น ยังสามรถใช้ทาภายนอก แก้ผิวหนังแห้ง ลดอาการระคายเคือง ผิวหนังอักเสบ
  • ราก  ตามตำรากล่าวว่ามีฤทธิ์ ฝาดสมาน ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก แก้บิด ต้มดื่มแก้ไข้
  • เถา มีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อน แก้บิด
  • เมล็ด มีรสขมใช้ขับพยาธิตัวกลม

ข้อควรระวังในการรับประทานมะระ

ไม่ควรรับประทานมะระทีมีผลสุก  (ปรกติก็ไม่ค่อยมีใครทานอยู่แล้วแต่บอกเผื่อไว้ โดยที่ผลสุกจะออกสีแดง ต่างกับผลแก่ที่เราทานซึ่งมีสีเขียว)  ซึ่งในมะระผลสุกจะทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากสารซาโปนิน ซึ่งสารนี้มีพิษต่อร่างกาย และไม่ควรทานมะระมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ท้องเสีย เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบาย

ต้มจืดมะระ


เคล็ดลับการลดความขมของมะระ
หวานเป็นลมขมเป็นยา คำนี้ทุกคนรู้ดี แต่ถ้าขมมากๆอาจพาลทำให้ไม่อยากทานเอา สำหรับวิธีการลดความขมของมะระ คือก่อนนำไปประกอบอาหารให้นำมะระแช่กับน้ำเกลือ (อัตราส่วนเกลือ 1 ช้อนชากับน้ำ 1 ลิตร )โดยแช่ทิ้งไว้สัก 20 นาทีแล้วเทน้ำทิ้ง จากนั้นก็แช่น้ำเปล่าอีก 10 นาทีก่อนนำขึ้นมาประกอบอาหาร และที่สำคัญเวลาประกอบอาหารโดยการต้มเช่นแกงจืด ไม่ควรเปิดฝาหรือคน เพราะจะทำให้มะระขม นี่คือเคล็ดลับง่ายๆในการลดความขมของมะระ