ม.ค. 072013
 

ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าสำนวนที่บอก “ไม่เป็นสับปะรด”มันมีที่มาที่ไปยังไง ทำไมมันไปหมายถึงอะไรที่ไม่เข้าท่าไปได้ แต่อย่างไรก็ตามสมุนไพรไทยที่นำเสนอวันนี้ผมรับรองว่าเป็นสับปะรดแน่นอน เพราะมันคือสัปปะรด งงไหม? ก่อนที่เราจะไปดูกันต่อว่าสับปะรดมีดียังไงเรามารู้จักชื่อเสียงเรียงนามและลักษณะของสับปะรดกันก่อน

สับปะรดชื่อทางวิทยาศาสตร์ของสัปปะรด :   Ananas comosus  (L.) Merr.

ชื่อโดยทั่วไป:  สับปะรด หรือ Pineapple (หลายคนอาจงงว่ามันเกี่ยวกับแอบเปิ้ลยังไง จริงๆคำนี้มันก็ตามตัวนะครับคือฝรั่งจะมีขนมอย่างหนึ่งที่ใช้ผลไม้เป็นองค์กระกอบ ซึ่งก็คือพายผลไม้นั่นเอง คราวนี้มันมีพายอันหนึ่งคือพายทำจากแอปเปิ้ล ลักษณะจะออกสีเหลืองๆ ซึ่งลักษณะมีเนื้อคล้ายๆของเนื้อสับปะรด เมื่อฝรั่งได้เห็นสับปะรดเป็นครั้งแรกจึงตั้งชื่อผลไม้ที้ว่า พาย-แอปเปิ้ลนั่นเอง

ชื่อวงศ์ :   Bromeliaceae

ชื่ออื่น :  หมากนัด (ภาคอีสาน) แนะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ขนุนทอง ยานัด ย่านนัด (ใต้) บ่อนัด (เชียงใหม่) เนะซะ (กะเหรี่ยงตาก) ม้าเนื่อ (เขมร) มะขะนัด มะนัด (เหนือ) หมากเก็ง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)  ลิงทอง (เพชรบูรณ์) จะเห็นว่าชื่อตามท้องถิ่นมีเยอะมาก เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ขึ้นได้หลายที่นั่นเอง

ลักษณะของสับปะรด : เป็นผลไม้สมุนไพร ที่เป้นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 90-100 ซม. ลำต้นใต้ดิน ปล้องสั้น ไม่แตกกิ่งก้านมีแต่กาบใบห่อหุ้มลำต้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวีสลับซ้อนกัน ไม่มีก้านใบ ใบเรียวยาว โคนใบเป็นกาบหุ้มลำต้น ปลายแหลม ขอบใบมีหนาม แผ่นใบสีเขียวเข้มและเป็นทางสีแดง ด้านล่างมีนวลแป้งสีขาว ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกเรียงอัดกันแน่นรอบแกนช่อดอก ก้านช่อใหญ่แข็งแรง กลีบดอก 3 กลีบ ด้านบนสีชมพูอมม่วง ด้านล่างสีขาว เกสรเพศผู้ 6 อัน เรียบกัน 2 ชั้น ผล เป็นผลรวมรูปรี โคนกว้าง ปลายสอบ มีใบสั้นเป็นกระจุกที่ปลายผล เรียกว่าตะเกียง ผลสุกสีเหลืองสดและฉ่ำน้ำมีตาอยู่รอบผลที่เป้นลักษณะเฉพาะของสับปะรด

สรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทย : สับประรดเรียกได้ว่าทุกส่วนมีสรรพคุณด้านสมุนไพรไทยแทบทั้งสิ้นสุดแต่เราจะเลือกใช้

  • ราก –  ใช้บรรเทานิ่ว ขับปัสสาวะ แก้กระษัย ทำให้ไตมีสุขภาพดี แก้หนองใน แก้มุตกิดระดูขาว แก้ขัดข้อ
  • หนาม – แก้พิษฝีต่างๆ แก้ไข้ ลดความร้อน ไข้พา ไข้กาฬ
  • ใบสด – เป็นยาระบาย ฆ่าและถ่ายพยาธิในท้อง ยาขับปัสสาวะ แก้กระษัย
  • ผลดิบ – ใช้ห้ามโลหิต แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ฆ่าพยาธิ และขับระดู
  • ผลสุก – ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ และบำรุงกำลัง ช่วยย่อยอาหาร แก้หนองใน มุตกิด กัดเสมหะในลำคอ
  • ไส้กลางสับปะรด – แก้ขัดเบา (ฉะนั้นทางสับปะรดก็อย่าทิ้งแกนกลางมันนะครับ)
  • เปลือก – ขับปัสสาวะ แก้กระษัย ทำให้ไตมีสุขภาพดี
  • จุก – ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้หนองใน มุตกิดระดูขาว
  • แขนง – แก้โรคนิ่ว
  • ยอดอ่อนสับปะรด – แก้นิ่ว

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
แก้อาการขัดเบา ช่วยขับปัสสาวะ ใช้เหง้าสดหรือแห้งวันละ 1 กอบมือ (สดหนัก 200-250 กรัม แห้งหนัก 90-100 กรัม) ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

เคล็ดลับในการรับประทานผลสับประรด ให้ได้รสชาติดีและปลอดภัย

ใช้มีดใหญ่เฉือนเปลือกออกจนหมด จากนั้นจึงใช้มีดตัดส่วนตาออกเป็นร่องเฉียงๆ เป็นแถว เอาส่วนตาออกแล้วตัดเป็นชิ้น (ลองสังเกตตอนที่แม่ค้าหั่นดูก็ได้)แล้วเอาเกลือแกงทาให้ทั่วหรือมิฉะนั้นก็แช่ในน้ำเกลืออ่อน ๆ ประมาณ 2-3 นาที การทาเกลือหรือแช่ในน้ำเกลือนอกจากจะทำให้รสชาติดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการทำลายสารจำพวก Glycoalkaoid และ เอ็มไซม์ บางชนิด ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ หลังรับประทาน

มาทานสับประรดกันนะครับนอกจากเป็นผลไม้ที่จัดว่าเป็นสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์แก่ร่างกายแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรไทยอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ สมุนไพรก้นครัวกินแล้วไม่ป่วย ,ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต