พ.ย. 222012
 

หัวข้อของเนื้อหาในตอนนี้อาจยาวไปนิดนึง แต่ยืนยันได้ว่าพืชสมุนไพรไทย อย่างชะอมนั้นสามารถ นำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย โดยเฉพาะเมนูเด็ดอย่างไข่เจียวกับชะอม ที่ไว้ทานคู่กับน้ำพริกกะปิ เมนูนี้อร่อยอย่าบอกใคร สำหรับชะอมนั้นเป็นพืชที่พบเห็นได้ทั่วไป(ตามตลาด) ซึ่งตัวของชะอมนั้นมีคุณค่าดีๆด้านสมุนไพรอยู่มาก รวมถึงคุณค่าทางด้านโภชนาการที่หลากหลาย ลองมารู้จักกับชะอมไปพร้อมๆกันนะครับ

ชะอมชื่อทางวิทยาศาสตร์   Acacia Pennata (L.) Willd.Subsp.InsuavisNielsen

ชื่อวงศ์           Fabaceae

ชื่อทั่วไป        ชะอม หรือ Acacia pennata

ชื่ออื่นๆของชะอม   ผักหละ ผักลำ ผ้าห้า ผักป่า ผักแก่ ผักขา

ลักษณะของต้นชะอม

  •  ลำต้น ชะอมเป็นไม้พุ่มขนาดย่อมไม่สูงมาก แต่เคยมีพบการพบชะอมในป่า ลักษณะเป็นต้นไม้ใหญ่ วัดเส้นรอบวงของลำต้นได้ 1.2 เมตร กิ่งก้านของชะอมมีหนามแหลม
  •  ใบ ลักษณะ เป็นใบประกอบขนาดเล็ก มีก้านใบแยกเป็นใบอยู่  2 ทาง ลักษณะคล้ายใบกระถิน (แยกได้โดยการสังเกตุดีๆหรือดมกลิ่น)  ใบอ่อนมีกลิ่น ฉุนคล้ายกลิ่นลูกสะตอแต่ก็ไม่เหมือนซะทีเดียวนะครับ ใบเรียงแบบสลับใบย่อย ออกตรง ข้ามกัน ใบย่อรูปรี มีประมาณ 13-28 คู่ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ส่วนที่มักนำไปทานก็คือใบออ่นหรือยอกของชะอมนั่นเอง
  • ดอก ชะอมจะออกที่ซอกกิ่ง สีขาวหรือขาวนวล ดอกขนาดเล็กและเห็นชัด เฉพาะเกสรตัวผู้ที่เป็นฝอยๆ
  •  ผล เป็นฝัก มีขนาดเล็กกว่าฝักกระถิน

คุณค่าทางโภชนาการของชะอม
ชะอมเแป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่จัดว่าไม่เบาเลยทีเดียว โดยยอดชะอม 100 กรัม ให้สารอาหารต่างๆดังนี้

  • ให้พลังงานกับร่างกาย   57 กิโลแคลอรี่
  • มีเส้นใย ซึ่งมีส่วนช่วยระบบขับถ่ายอยู่ 5.7 กรัม
  • มีแคลแซียมซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการบำรุงกระดูกและฟันอยู่ 58 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัสซึ่งช่วยให้วิตามินบีต่างๆทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพซึ่งมีอยู่ถึง 80 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็กซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเม็ดเลือด บำรุงโลหิต    4.1 มิลลิกรัม
  • มีวิตามินต่างๆดังนี้  วิตามินเอ(บำรุงสายตา) 10066 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.05 มิลลิกรัมวิตามินบีสอง 0.25 มิลลิกรัม ในอาซิน 1.5 มิลลิกรัม วิตามินซี 58 มิลลิกรัม

คุณค่าทางด้านสมุนไพรไทย

ใบชะอม (เน้นที่ใบหรือยอดอ่อน)   สามารถช่วยลดความร้อนในร่างกายได้

รากชะอม   หากนำมาต้มรับประทาน  จะช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ลดกรด จุกเสียดแน่นท้องและขับลมในกระเพาะอาหาร

ข้อควรระวังเล็กๆน้อยๆในการรับประทานชะอม

ผักชะอมในช่วงหน้าฝน จะมีรสเปรี้ยว กลิ่นฉุนมาก บางครั้งหากรับประทานเข้าไปอาจทำให้ปวดท้องและสำหรับคุณแม่ลูกอ่อนแนะนำว่าไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้น้ำนมแห้งได้

พ.ย. 172012
 

ถ้าหลายคนติดตามเว็บนี้มาเป็นประจำคงจำกันได้นะครับ ว่าผมเคยเขียนเรื่องกระเจี๊ยบไว้ในตอน “กระเจี๊ยบ สมุนไพรสีสดใส รสชาติถูกใจ“แต่กระเจี๊ยบที่ผมพูดถึงในตอนนั้นคือกระเจี๊ยบแดง ซึ่งส่วนใหญ่คนมักจะนำไปเป็นเครื่องดื่ม แต่ยังมีกระเจี๊ยบอีกชนิดหนึ่งที่ผมยังไม่ได้พูดถึงนั่นคือกระเจี๊ยบเขียว นั่นเอง สำหรับกระเจี๊ยบเขียวในบ้านเราจะนิยมนำไปลวกจิ้มกับน้ำพริก เชื่อว่าหลายคนก็คงก็เคยทาน ตามตลาดร้านที่ขายน้ำพริกผักลวกก็มีให้เห็นบ่อยๆ ยังไงก็ลองหาทานกันดูนะครับ เพราะนอกจากรสชาติจะดีแล้ว ยังมีสรรพคุณด้านสมุนไพรอีกมากเลยทีเดียว ก่อนที่จะบอกว่ากระเจี๊ยบเขียวมีสรรพคุณอะไร ขอแนะนำชื่อเสียงเรียงนามและลักษณะของพืชชนิดนี้ก่อนนะครับกระเจี๊ยบเขียว

ชื่อทั่วไป  กระเจี๊ยบเขียว หรือ  Lady ‘ s Finger (แปลตรงตัวคือเล็บมือนางนั่นเอง แต่ต้นเล็บมือนางของไทยเป็นอีกต้นหนึ่งนะครับ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmoschus esculentus Moench.

ชื่อวงศ์   MALVACEAE

ชื่ออื่น กระเจี๊ยบมอญ กระเจี๊ยบ มะเขือมื่น ส้มพม่า มะเขือหวาย มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือละโว้ กระต้าด ถั่วเละ กระเจี๊ยบขาว

 ลักษณะของกระเจี๊ยบเขียว

  • ลำต้น  มีขนหยาบและมีความสูงประมาณ 1-2  เมตร
  • ใบ       ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว คล้ายฝ่ามือเรียงสลับกัน และมีขนหยาบ
  • ดอก   มีสีเหลือง ที่โคนกลีบด้านในมีสีม่วงออกแดง ออกตามซอกใบ ก้านชูเรณูรวมกันเป็นลักษณะคล้ายหลอด
  • ฝัก      คล้ายนิ้วมือผู้หญิง (ดังชื่อในภาษาอังกฤษ) ตามฝักมีขนอ่อนๆทั่วฝัก มีสันเป็นเหลี่ยมตามยาว 5 เหลี่ยม ฝักกระเจี๊ยบมีทรงยาวสีเขียว ฝักอ่อนมีรสชาติหวานกรอบอร่อย ส่วนฝักแก่จะมีเนื้อเหนียว

การนำกระเจี๊ยบเขียวไปประกอบอาหาร

กระเจี๊ยบเขียวนอกจากใช้ลวกจิ้มเป็นเครื่องเคียงกับน้ำพริก ยังใช้ปรุงอาหารได้หลายชนิด  เช่น  แกงส้ม  แกงใส่ปลาย่าง  สุดแต่จะนำไปประยุกต์ สำหรับคนไม่เคย รับประทาน กระเจี๊ยบเขียว อาจจะรับประทานได้ยากกันสักหน่อย  เพราะ ฝักของมัน ข้างในจะมี ยางเมือก ๆ หุ้มเมล็ดอยู่ แต่ทานบ่อยๆจะชินเอง คนสมัยก่อนนิยมเอาไป ต้ม หรือ ต้มราดกะทิสด (การราดกระทิสดบนผักเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งในการดึงวิตามินที่ละลายในไขมันได้ให้ออกมาจากผักให้ร่างกายดูดซึมให้ใช้ได้ง่ายยิ่งขึ้น) กระเจี๊ยบเขียวหากกินกับ น้ำพริกกะปิ ปลาทู จะให้รสชาติที่ดีมากๆ ลองทานดูได้นะครับ

สรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทย
กระเจี๊ยบเขียว เป็นพืชที่มีคุณสรรพคุณด้านสมุนไพรในการช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ เพราะในฝักกระเจี๊ยบนั้นมีสารเมือกพวกเพ็กติน (Pectin) และกัม (Gum) ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้  รักษาความดันให้เป็นปกติ เป็นยาบำรุงสมอง มีสรรพคุณเป็นยาระบายและสามารถแก้โรคพยาธิตัวจี๊ดได้ด้วย แต่ต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย15วัน(แต่ข้อนี้ผมแนะนำให้ใช้ยาแผนปัจจุบันมากกว่า)

นอกจากนั้นยังมีสูตรการทานกระเจี๊ยบเขียวเป็นยาสมุนไพรต่างๆดังนี้

รับประทานฝักกระเจี๊ยบ 10 -15 ฝัก ตอนเย็นหรือก่อนนอน สามารถ ลดอาการท้องผูก
รับประทาน 3 – 5 ฝัก ก่อนอาหาร ทุกวัน สามารถ รักษา แผลในกระเพาะอาหาร
รับประทาน 10 – 15 ฝัก ทุกวัน สามารถ บำรุงตับ
รับประทาน 5 ฝัก ก่อนอาหาร 3 มื้อ ติดต่อกันทุกวัน สามารถ กำจัด พยาธิตัวจี๊ด
รับประทาน 30 – 40 ฝัก ตอนเย็น หรือ ก่อนนอน สามารถ ดีท็อกซ์ลำไส้ ขับสารพิษ อุจจาระตกค้าง

คุณค่าทางโภขนาการของกระเจี๊ยบเขียว    

กรเจี๊ยบเขียวเส้นมีใยอาหารตามธรรมชาติ ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย  มีแคลเซียมช่วยในการบำรุงกระดูกและฟัน และยังมี วิตามินต่างๆสูง และนอกจากนั้นยังมีโฟเลตสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง บำรุงสมอง และจำเป็นต่อทารกในครรภ์

 

 

พ.ย. 112012
 

เวลาสั่งอาหารตามสั่ง หนึ่งในเมนูที่ผมชอบคือ หมูผัดพริกไทยอ่อน เวลาทานข้ามต้ม ก็อดไม่ได้ที่จะเหยาะพริกไทยลงไป จริงๆรสชาติของพริกไทยป็นรสชาติที่ถูกปากผม และผมก็เชื่อว่าหลายๆคนก็ชอบรสชาตินี้ นอกจากรสชาติของพริกไทยที่ช่วยเพิ่มความอร่อยให้แก่อาหารแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือ สรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทยของพริกไทย วันนี้ผมเองก็มีเรื่องราวดีๆของพริกไทยมาฝากทุกท่าน

มารู้จักชื่อเสียงเรียงนามของพริกไทยกันก่อน

พริกไทยชื่อโดยทั่วไป พริกไทย หรือ   Pepper
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Piper nigrum Linn.
ชื่อวงศ์ Piperraceae
ชื่อตามภูมิภาค   พริกน้อย (ภาคเหนือ) พริก (ภาคใต้) พริกไทยดำ พริกไทยล่อน  พริกขี้นก (ภาคกลาง)

ลักษณะของต้นพริกไทย

เมื่อเรารู้จักกับชื่อต่างๆของพริกไทยแล้วคราวนี้ก็มาถึงลักษณะของต้นพริกไทยกันบ้าง  เชื่อนะครับว่าทุกคนเคยเห็นพริกไทยเม็ด พริกไทยออ่น แต่ถ้าต้นพริกไทยผมว่าน้อยคนนักจะได้เห็น เรามาดูลักษณะของต้นพริกไทยกันเลยครับ

  • ลำต้น  เป็นไม้เลื้อย มีความสูงประมาณ 5 เมตร ลักษณะของลำต้นเป็นข้อๆ พริกไทยถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน
  • ราก    รากของต้นพริกไทยมักเกิดบริเวณข้อ ตามลำต้นเป็นรากเล็กๆ โดยจะใช้ช่วยยึดเกาะ และมีรากที่อยู่ในดินขนาดใหญ่ประมาณสามถึงหกราก และรากฝอยแตกออก
  • ใบ      ลักษณะใบจะมีสีเขียวสด ใบใหญ่คล้ายใบโพ
  • ดอก  ของพริกไทยจะมีขนาดเล็ก จะออกช่อตามข้อเป็นพวง
  • เมล็ด จะมีลักษณะกลมติดกันเป็นพวง ดังที่เราเห็นในพริกไทยอ่อนบนจานผัดเผ็ด

คุณค่าทางด้านโภชนาการของพริกไทย   ในพริกไทยนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการหลายประการ อาทิเช่น

  1. พริกไทยนั้นมีแคลเซียมในปริมาณที่สูงมาก โดยเฉพาะในพริกไทยอ่อน ซึ่งแคลเซียมเป็นส่วนสำคัญในการบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงอยู่เสมอ และแคลซียม ยังสามารถป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้อีกด้วย
  2. พริกไทยมี ฟอสฟอรัส, วิตามินซี  ซึ่งวิตามินซีนั้นเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ชลอกการเสื่อมสภาพของเซลล์ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
  3. มีเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการสร้างวิตามินเอ ซึ่งมีส่วนช่วยในการมองเห็น
  4. มีสารที่ชื่อว่า ไปเปอรีน และ ฟินอลิกส์  ซึ่งทั้งคู่เป็นสารต้านอนุูมูลอิสระ มีสรรพคุณในการป้องกันมะเร็ง

สรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทย

นอกจากคุณค่าทางด้านโภชนาการแล้ว พริกไทยยังมีคุณค่าทางด้านสมุนไพรไทยอีกหลายประการ โดยพอจะแยกเป็นสรรพคุณของแต่ละส่วนดังต่อไปนี้

  • ดอก  มีการระบุในตำราสมุนไพรไทยว่ามีสรรพคุณ แก้ตาแดงเนื่องจากความดันโลหิตสูง
  • เมล็ด มีสรรพคุณในการใช้เป้นยาช่วยย่อยอาหาร ขับสารพิษตกค้าง ขับเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้ระดูขาว
  • ใบ ในใบพริกไทยมีสรรพคุณ แก้จุกเสียด แก้ปวดมวนท้อง
  • เถา ใช้ขับเสมหะ แก้ท้องร่วงอย่างรุนแรง และท้องเดินหลายๆครั้ง
  • ราก ใช้ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง วิงเวียน ช่วยย่อยอาหาร และเป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย
  • น้ำมันหอมระเหย ในน้ำมันหอมระเหยจากพริกไทยนั้น สามรถช่วยแก้หวัด ทำให้จมูกโล่ง นอกจจากนี้ยังใช้ลดน้ำหนัก นำมาทานวดตามร่างกายในส่วนที่ต้องการลดได้ และนอกจากนี้พริกไทย ยังมีคุณสมบัติในการกำจัดเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิด จึงนิยมนำมาถนอมอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เช่นไส้กรอก กุนเชียง หมอยอ ซึ่งจะมีพริกไทยเป็นส่วนผสม

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของพืชสมุนไพรไทยที่ชื่อพริกไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดของเครื่องเทศสมุนไพร

ขอบคุณข้อมูลจาก thai wiki และหนังสืออาณาจักรพืชผัก สมุนไพรสร้างสมอง

 

ผักกระเฉด ผักสมุนไพร มากมายด้วยวิตามิน

 บำรุงกระดูกและฟัน, บำรุงสายตา, พืชสมุนไพร  ปิดความเห็น บน ผักกระเฉด ผักสมุนไพร มากมายด้วยวิตามิน
พ.ย. 072012
 

เวลาที่คุณไปทานยำวุ้นเส้นเจ้าประจำ คุณจะบอกให้เขาใส่อะไรบ้าง แน่นอนล่ะ กุ้งปลาหมึก หมูยอก็ว่ากันไป แต่ถ้าเป็นผักล่ะจะใส่อะไรดี แน่นอน ผักที่ขาดไม่ได้เลยคือผักกระเฉด ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงผักกระเฉดกันนะครับ ซึ่งถือว่าเป็นสมุนไพรพื้นบ้านของไทยที่แพร่หลายมากมายเลยทีเดียว

มารู้จักชื่อเสียงเรียงนาม และลักษณะของผักกระเฉดกันก่อน

ผักกระเฉด

ชื่อทางวิทยาศาสตร์       Neptumia  oleracea Lour. FL.

ชื่อโดยทั่วไป      ผักกระเฉด   Water mimosa  (ดูจากชื่อในภาษาอังกฤษ เห็นคำว่า water นำหน้ารู้แล้วใช่ไหมครับว่าผัก  กระเฉดจะขึ้นที่ไหน?)

ชื่อวงศ์     MIMOSACEAE

ชื่อเรียกตามภูมิภาค         ผักหละหนอง  ผักหนอง ( แม่ฮ่องสอน หรือทางภาคเหนือ )  ผักรู้นอน ( ภาคกลาง  ) ผัดฉีด ( ภาคใต้ ) ผักกระเสดน้ำ (อุดรธานี-ยโสธร หรือภาคอิสาน )

ลักษณะของผักกระเฉด เชื่อว่าทุกคนคงเคยเห็น ในแบบสำเร็จรูปพร้อมทาน แต่ถ้าตอนเก็บล่ะ รู้ไหมเป็นยังไง ?

ลำต้น      ผักกระเฉดถ้าขึ้นบนดิน ก็เป็นพืชคลุมดิน  ลักษณะเป็นไม้เลื้อยเช่นเดียวกับพวกผักบุ้ง เป็นพืชพื้นเมืองของไทยเราและยังพบได้ที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่นมาเลเซีย ผักกะเฉดสามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งในน้ำ และบนบก แต่ถ้าเจริญเติบโตในน้ำจะพิเศษหน่อยตรงที่จะมีส่วนที่ ทำหน้าที่เป็นทุ่นพยุงเถาให้ลอยน้ำได้เป้นเหมือนทุ่นลอยน้ำภาษาบ้านๆเขาเรียกว่า “นม” หรือทางวิชาการเขาเรียกส่วนนี้ของพืชว่า Aerenchyme

ราก         ผักกระเฉดที่ขึ้นในน้ำ จะมีรากที่เกิดตามข้อที่ทอดไปในน้ำเรียกว่า “หนวด”

ใบ           ลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกตามข้อ (ลักษณะคล้ายใบมะขามมากจนตอนเด็กๆผมยังสับสน) โดยใบมีสีเขียว ขอบใบจะเป็นสีม่วง สิ่งที่พิเศษคือใบจะหุบเวลาที่โดนสัมผัสและจะหุบเองในตอนกลางคืน(ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าผักรู้นอน ดั่งที่ครูภาษาไทยสอน แต่ก็ไม่ค่อยมีคนเรียกหรอกเชื่อไหม) รากจะแตกออกเป็นกระจุกตามบริเวณข้อ ดอกและผล       ผักกระเฉดจะออกดอกเป็นช่อกลมสีเหลืองตามซอกใบ ผลจะออกเป็นฝักโค้งงอเล็กน้อย มีเมล็ดด้านในอยู่สี่ถึงสิบเมล็ด

ในผักกระเฉดมีคุณค่าอะไรในนั้นบ้าง

สำหรับคุณค่าทางด้านโภชนาการของผักกระเฉดนั้นมีอยู่มาก แต่พอจะไล่เป็นข้อๆปล้องๆให้ฟังได้ดังนี้

–  ผักกระเฉดมีวิตามินซีสูงมาก ซึ่งเจ้าวิตามินเอนั้น มีความสำคัญกับตา ช่วยในการมองเห็นโดยเฉพาะภาวะที่มีแสงน้อย นอกจากนั้นวิตามินเอในผักกระเฉด ยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างเป้นปรกติ และที่สำคัญยังในการเจริญโตและ ช่วยในระบบสืบพันธ์ ใครไม่อยากเป็นหมันก็อย่าลืมผักกระเฉดนะครับ

–   ผักกระเฉด มีแคลเซียม ซึ่งเป้นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและฟัน ป้องกันภาวะกระดูกพรุน อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อทำงานเป็นปรกติ

–   ผักกระเฉดมีธาตุเหล็ก ซึ่งธาตุเหล็กนั้นมีความจำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือด หากขาดธาตุเหล็ก อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้

สรรพคุณด้านสมุนไพรไทยของผักกระเฉด

นอกจากสรรพคุณด้านโภชนาการแล้ว ผักกระเฉดยังมีสรรพคุณด้านการเป้นสมุนไพรอยู่ด้วย กล่าวคือตามตำราสมุนไพรไทย ผักกระเฉดเป็นยาเย็น ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ถอนพิษเบื่อเมา ป้องกันโรคตับอักเสบ และนอกจากนั้นยังมีสูตรยาโบราณ ที่นำผักกระเฉด ตำผสมกับสุราแล้วหยอดบริเวณฝันที่ปวด ซึ่งเชื่อว่าสามารถบรรเทาอาการปวดฟันได้

การนำผักกระเฉดไปประกอบอาหาร

จริงๆผักกระเฉดทำอาหารได้หลายอย่าง มากกว่าแค่ที่ผมบอกว่าใส่ในยำวุ้นเส้น แล้วแต่เราจำนำไปประยุกต์ หรือทานสดเป็นผักกับน้ำพริกก็ยังได้ ซึ่งทางเว็บเราจะขอข้ามในเรื่องยำผักกระเฉด อาหารที่ทำจากผักกระเฉดสูตรอาหารไป แต่จะแนะนำเคล็ดลับเล็กน้อยในการเลือก โดยควรเลือกผักกระเฉดที่มียอดอ่อน จะกรอบและอร่อย ส่วนเคล็ดลับในการลวกผักกระเฉด คือน้ำต้องเดือด ใส่เกลือเล็กน้อย และสำคัญที่สุดคือห้ามลวกนาน เพราะผักกระเฉดจะเหนียว ถ้าจะให้ดีลวกแล้วควรตักใส่น้ำเย้นจัดทันที หรือเอาน้ำแข็งโปะก็ได้ ผักกระเฉดจะกรอบและอร่อยมากๆ

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวน่ารู้ของผักทสมุนไพรที่ได้ชื่อว่าอุดมไปด้วยวิตามินอย่างผักกระเฉด

ขอขอบคุณข้อมุลจาก หนังสือ อาณาจจักรพืชผัก สมุนไพรสร้างสมอง , ไทย wikipedia และเว็บ the-than.com

ต.ค. 112012
 

ชะพลู คิดว่าคนที่เคยทานเมี่ยง แหนมคลุก คงรู้จักสมุนไพรไทยชนิดนี้กันดี ด้วยความหอมและรสชาติที่โดดเด่น เหมือนถูกดีไซน์มาไว้ทานกับอาหารพวกนี้โดยเฉพาะ ผมเองก็เป็นคงหนึ่งที่ชอบมาก (คิดแล้วน้ำลายไหล) แต่นอกจากรสชาติและความเข้ากันกับอาหารจำพวกเมี่ยงนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่คู่กันคือคุณค่าของชะพลู สมุนไพรไทยชนิดนี้มีดีตรงไหนบ้างเราลองมาดูกัน

ลักษณะของชะพลู

ชะพลูชื่อวิทยาศาสตร์ของชะพลู Piper sarmentosum Roxb.

ชื่อวงศ์   Piperaceae

ชื่ออื่นๆ   ปูนก,ปูลิง (ทางภาคเหนือ)  ,ช้าพลู (ภาคกลาง) ,นมวา(ภาคใต้) และผักอีเลิศ (ทางอิสาน)

จะเห็นได้ว่าชะพลูมีชื่อเฉพาะ หรือชื่อท้องถิ่นอยู่แทบทุกภาค ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชะพลู เป็นสมุนไพรไทยที่มีแพร่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ  ชะพลูเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก เป็นเถาไม้รวมกันอยู่เป็นกลุ่ม ลำต้นแบ่งเป็นข้อ ที่พิเศษคือตามข้อจะมีราก ไว้ช่วยลำต้นยึดเกาะ

คุณค่าทางอาหารของชะพลู

ชะพลูนอกจากทานได้อร่อยแล้วนั้นยังมีคุณค่าทางอาหารอีกเพียบ เช่นแคลเซียมที่ช่วยบำรุงระบบกระดูก วิตามินเอที่สูงมากเป็นพิเศษ จึงบำรุงสายตาได้เป็นอย่างดี และยังมีฟอสฟอรัส ธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงเลือด  เส้นใยที่ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย และยังมีสารครอโรฟิล*

*บางคนอาจบอกว่า ครอโรฟิลมีประโยชน์ยังไง เราไม่ใช่ต้นไม้สักหน่อย ไม่ต้องใช้สังเคราะห์แสง …จริงๆมันมีประโยชน์หลายอย่างนะครับ จากการศึกษาจะพบว่าสามารถช่วยลดการดูดซึมสารก่อมะเร็งของร่างกาย ทำให้ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลงได้ รวมถึงมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ไว้มีโอกาศจะเขียนเรื่องครอโรฟิล แบบเจาะลึกนะครับ

สรรพคุณด้านสมุนไพรไทยของชะพลู

ตามตำราสมุนไพรไทย บอกเอาไว้ว่าชะพลูมีสรรพคุณในการบำรุงธาตุ แก้จุกเสียด ขับลมในลำไส้ ลดความดันโลหิต และด้วยการที่ชะพลูมีรสเผ็ดร้อนจึงช่วยขับเสมหะได้เป็นอย่างดี

ข้อควรระวังในการรับประทานชะพลู

จริงๆแล้ว มันก็จากประโยชน์ของมันนั่นแหละ ก็ด้วยการที่ชะพลูมีแคลเซียมสูง หากเราทานจำนวนมาก และติดต่อกันนานนาน จะทำให้แคลเซียมสะสม กลายเป็นแคลเซียมออกซาเลท ซึ่งอาจทำให้เป็นนิ่วในไตได้ แต่หากเราทานพอดีพอดี เช่นอาทิตย์นึงทานครั้ง หรือทานบ่อย ๆแต่ทานครั้งละไม่กี่ใบ และทานร่วมกับอาหารอื่นจะทำให้เราได้ใช้แคลเซียมจากชะพลูได้อย่างเต็มที่ และไม่เป็นโทษต่อร่างกาย (ทุกอย่างต้องอยู่บนเส้นทางของความพอดี)