ส.ค. 082014
 

มะลิ สมุนไพรไทย

ใกล้ถึงวันที่ 12 สิงหาคมเข้าไปทุกที ยังไงทางเว็บไทยสมุนไพร.net ขออวยพรให้คุณแม่ทุกท่านมีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรงนะครับ และขอเป็นตัวแทนสำหรับลูกๆทุกคนในการกล่าวคำขอบคุณ สำหรับพระคุณมากมายที่มีให้ลูก พูดถึงวันแม่ แน่นอนต้องนึกถึงดอกมะลิ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวันนี้  ซึ่งหลายท่านนำมามอบให้แม่เพื่อเป็นการแสดงถึงการสำนึกในพระคุณ แต่รู้หรือไม่ มะลินั้นก็จัดว่าเป็น สมุนไพรไทย ชนิดหนึ่งเหมือนกัน ลองมารู้จักดอกมะลิในอีกมุมกันดูครับ

 

มารู้จักมะลิกันเถอะ

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Jasminum sambac Ait วงศ์  Oleaceae
  • ชื่ออังกฤษ Arabian jasmine
  • ชื่อท้องถิ่น  ข้าวแตก (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) เตียงมุน (ละว้า-เชียงใหม่)มะลิป้อม (เหนือ) มะลิหลวง (แม่ฮ่องสอน)

ต้นกำเนิด ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของดอกมะลิ
จริงๆหลายคนอาจคิดว่าดอกไม้สมุนไพรไทยเช่นมะลิเป็นดอกไม้ที่มีต้นกำเนิดในไทย แต่จริงแล้วกลับมีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย ส่วนใหญ่ใช้ในพิธีทางศาสนา ซึ่งคล้ายๆกับเมืองไทยที่นำมาร้อยบูชาพระ ซึ่งการนำพันธ์ดอกมะลิเข้ามาในไทยเมื่อไหร่ผมเองก็ไม่มีข้อมูล  สำหรับลักษณะมะลินั้น   มะลิไม้พุ่มขนาดสูงไม่เกิน 2 เมตรแตกกิ่งสาขามาก กิ่งอ่อนมีข้นสั้น ใบ เดี่ยวออก ตรงข้ามกัน ขอบใบเรียบ ดอก เดี่ยวหรือออกเป็นช่อละ 2-3 ดอก กลีบเป็นหลอดสีขาว กลีบดอกสีขาวมีกลิ่นหอม    เรื่องของดอกขอบอกนิดนึงจริงแล้วมะลิมีสายพันธ์เกือบ 200 สายพันธ์ ซึ่งบางสายพันธ์เป็นดอกสีเหลืองก็มีนะครับ**  แต่หายากและไม่นิยมเท่าดอกสีขาว

สรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทยของมะลิ

  • สุวคนธบำบัด หรือการบำบัดด้วยกลิ่นหอม  น้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิเรียกว่า jasmine oil ซึ่งมีกลิ่นหอมหวาน ให้ความรู้สึกอบอุ่น มีผลต่ออารมณ์ ลดอาการซึมเศร้า ผ่อนคลายความตึงเครียดและความกลัว บรรเทาอาการปวดศีรษะ ใช้ทำหัวน้ำหอมและแต่งกลิ่นในเครื่องสำอางหลายชนิด   ซึ่งการ  jasmin oil จากดอกมะลิ ในอดีตใช้วิธีอองเฟลอราจ (enfkeurage) เป็นการสกัดโดยการใช้ไขสัตว์ดูดซับกลิ่นไว้ แล้วนำไปละลายในแอลกอฮอล์ ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก จึงเปลี่ยนมาเป็นวิธีสกัดด้วยตัวละลายเฮกเซน หรือปิโตเลียมอีเทอร์ โดยนำดอกไม้มาแช่ในตัวทำละลาย จากนั้นกรองกากดอกไม้ออก แล้วนำสารสกัดไประเหยตัวทำละลายออก สารหอมที่ได้เรียกว่า concrete เวลาใช้ นำมาละลายในแอลกอฮอร์เรียก absolute ใช้ทาภายนอกเท่านั้น ปัจจุบันสามารถสังเคราะห์ได้ราคาที่ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน
  • ดอกสด  ใช้ร้อยมาลัยและอบขนมให้มีกลิ่นหอม ดอกเริ่มบานใช้ลอยน้ำให้มีกลิ่นหอม เพื่อใช้ดื่มและทำขนม เช่น ลอดช่องน้ำกะทิ ซ่าหริ่ม ทับทิมกรอบ
  • ดอกแก่  เข้ายาหอม แก้หืด บำรุงหัวใจ
  • ใบ  แก้ไข้ ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องเสีย พอกแก้ฟกชำ แผลเรื้อรัง โรคผิวหนัง บำรุงสายตา ช่วยขับถ่าย
  • ราก  แก้ร้อนใน เสียดท้อง รักษาหลอดลมอักเสบ ขับประจำเดือน แก้ปวดเคล็ดขัดยอก

ข้อมูลเพิ่มเติมอื่นและข้อควรระวัง   น้ำมันหอมระเหย จากดอกมี benzyl alcohol, benzylacetate, D-linalool, jasmine, anthranilacid methyester, indol, P-cresol, geraniol, methyljasmonat   ใน ใบ มี jasminin, sambacin    ซึ่งน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิให้ใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทานและห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์

บทความนี้ re-write ใหม่อีกครั้งจากบทความเดิมในปี 2555  และขอบคุณข้อมูลจาก คุณ dogstar ใน blog OKnation  และข้อมูลทางสรรพคุณบางส่วนนำมาจาก cyclopaedia.net

ก.ย. 202012
 
คนที่ชอบทานอาหารรสจัดหน่อยก็คงชอบ ภายในรสเผ็ดร้อนของมันนั้น มีคุณค่าของสมุนไพรไทย แฝงอยู่ถึงหกประการด้วยกัน

พริก สมุนไพรไทยพริกขี้หนู (cayenne pepper)

พริกชี้ฟ้า (chili Spur pepper)

พริกหยวก (red-pepper หรือ sweet pepper)

พริกเป็นอาหารสมุนไพรที่ใช้กับทุกครัวเรือน ท่านทราบหรือไม่ว่าพริกนั้นมีคุณค่าทางอาหารและคุณค่าทางยาที่วิเศษชนิดหนึ่ง พริกที่เรานำมาปรุงเป็นอาหารจะใช้ทั้ง พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า และพริกหยวก

ในพริกมีสาร capsaicin ซึ่งมีมากในไส้พริก เป็นสารที่มีรสเผ็ด นอกจากนี้ยังมีสาร carotenoid วิตามินซี วิตามินเอ ไขมัน  และ โปรตีน

สรรพคุณ

1. พริกช่วยขับเสมหะ ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง สารแคปไซซินช่วยลดความไวของปอด ต่อการเกิดอาการต่างๆ  เช่น การบวมของเซลล์หลอดลมใหญ่และเล็ก ลดการหดเกร็งเนื้อรอบหลอดลม พริกเผ็ดจึงเป็นประโยชน์ต่อคนที่เป็นหอบหืด เมื่อเราลองกินพริกที่รสเผ็ดๆ น้ำตา น้ำมูกไหล ซึ่งอธิบายได้ว่า พริกช่วยให้เสมหะที่ข้นเหนียว เจือจางลง ร่างกายจะขับเสมหะออกจากหลอดลมได้ง่ายขึ้น

2.  ช่วยสลายลิ่มเลือด  มีรายงานการวิจัย   นายแพทย์สุคนธ์   วิสุทธิพันธ์และคณะ จากศิริราชพยาบาล ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบ 2 กลุ่มคือคนที่ได้รับพริก และไม่ได้รับพริกในอาหาร ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับพริกจะมีการทำงานของร่างกายเพื่อสลายลิ่มเลือดได้เร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับพริก แต่หลังจากกินพริกแล้วครึ่งชั่วโมง ความสามารถในการสลายลิ่มเลือดจะกลับคืนสู่ปกติ และยังมีการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ของชาวอินเดีย เปรียบเทียบชาวไทยกับชาวอเมริกันที่อาศัยในไทยแต่ไม่รับประทานพริก พบว่าคนอเมริกันมี fribrinogen ในเลือดสูง และเลือดมีโอกาสจะจับตัวเป็นลิ่ม และนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจได้ง่ายกว่า ดังนั้นผลดีที่คนไทยใช้พริกประกอบอาหาร โอกาสจะเกิดโรคหัวใจจึงมีน้อยกว่า

3. บรรเทาอาการปวด เช่น ลดอาการปวดฟัน สารแคปไซซิน  ออกฤทธิ์ต่อเซลประสาทโดยชะลอการหลั่งของ neurotransmitter ที่ปลายประสาท substance P ส่งผลให้สมองส่วนกลางรับรู้การเจ็บปวดช้าลง

4. พริกช่วยกระตุ้นสมองส่วนกลางให้หลั่งสารเอ็นดอร์พิน (endorphins) ซึ่งเป็นสารสร้างความสุข เมื่อรับประทานพริกจะเกิดความสุขและเป็นส่วนหนึ่งทำให้อยากเพิ่มขนาดพริกในอาหารขึ้นเรื่อยๆ สารเอ็นดอร์พินมีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน คือ การออกฤทธิ์ทำให้เกิดการผ่อนคลาย ทำให้อยากหลับ (opiates) ซึ่งนั้นก็ให้เกิดความสุขแก่ตัวเราและทำให้ความดันโลหิตลดลง

5. พริกจะช่วยกระตุ้นให้อยากอาหาร

6.พริกช่วยป้องกันโรคมะเร็ง เนื่องจากในพริกมีทั้งวิตามิน เอ ซี และโปรตีน

ข้อควรระวัง

แม้ว่าพริกจะมีสรรพคุณนานัปการอย่างที่กล่าวแล้ว แต่ท่านต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ควรรับประทานรสเผ็ดจัด และในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหาร ไม่ควรรับประทานพริกมาก เพราะอาการเจ็บป่วยของท่านอาจเป็นมากขึ้น ไม่ควรทานเผ็ดในช่วงท้องว่าง ควรปรุงเป็นอาหาร ไม่ควรเคี้ยวพริกสด ๆ  เพราะอาจจะเกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร อาจจะทำให้ท่านเป็นแผลเรื้อรังและกลายเป็นมะเร็งได้