พ.ค. 092016
 
ดอยสุเทพ ไฟไหม้

ดอยสุเทพ เกิดเพลิงไหม้

ข่าวล่ามาด่วน ! ผืนป่าเชิงดอยสุเทพเกิดเพลิงไหม้ระดมเจ้าหน้าที่ดับกันจ้าละหวั่น เมื่อช่วยเย็นไปถึงค่ำของวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา ความร้อนของอากาศผสานความแห้งแล้ง ที่เกิดขึ้นมานาน ทำให้ฝนฟ้าที่ตกลงมาอาทิตย์ก่อนไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก… ข่าวไฟไหม้ กับช่วงนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องคู่กัน และไม่ได้เกิดแค่ที่เชียงใหม่ แต่มีข่าวการเกิดเพลิงไหม้ที่นั่นที่นี่เต็มไปหมด สาเหตุมาจากอากาศร้อนและความประมาทของคนที่เข้าไปทำอะไรในป่า ซึ่งหลังจากดับเพลิงได้ สิ่งที่ตามมาก็คือ ปัญหาเรื่องหมอกควัน ที่ดูเหมือนเป็นๆ หายๆ ปีนี้ในเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนก็ยังมีข่าวปัญหาการเกิดหมอกควันอยู่เป็นระยะๆ เมื่อมามีเพลิงไหม้ไฟป่าครั้งใหญ่แบบนี้ ก็แทบจะแน่ใจได้เลยว่านอกเหนือจากความเสียหายที่เกิดการไหม้ของไฟแล้ว สภาพอากาศก็คงแย่ลงไปด้วยเช่นกัน…

ด้วยสภาพแบบนี้ ที่มีหมอกควันเพลิงไหม้เกิดขึ้นบ่อยๆ มันทำให้เกิดปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจได้ง่าย และแน่นอนมันมีผลกระทบกับผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจและผู้มีมีร่างกายอ่อนแอได้ง่าย… ซึ่งเรื่องนี้ แม้ว่าไฟป่าเราจะไม่สามารถไปช่วยเขาได้มากนัก เพราะดีที่สุดเป็นเรื่องเฝ้าระวัง และการเข้าถึงจุดเพลิงไหม้ให้เร็วที่สุดก่อนลุกลาม… แต่เราก็มีความรู้ในเรื่องสมุนไพร ที่สามารถเอามาแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงจากปัญหามลพิษทางอากาศได้

สมุนไพรที่สามารถช่วยเหลือบรรเทาและรักษาอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ที่หาได้ง่ายๆ ในบ้าน ก็อาทิเช่น…

หอมแดง มีกลิ่นหอมฉุน และมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ภายใน มีสรรพคุณช่วยต่อต้านการอักเสบ ระคายเคืองภายในระบบทางเดินหายใจได้เป็นอย่างดี วิธีใช้ บุบพอแตกเอาไปต้มในน้ำร้อนสูดดมไอระเหยทำให้จมูกโล่ง

ไพล

ไพล

ไพล สมุนไพรกลิ่นหอมแรง สามารถใช้บดเป็นส่วนผสมในสมุนไพรอบตัวหรือ หรือ ผสม ไพล ดีปลี

กานพลู และพิมเสน ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน เป็นตำรับแก้โรคหอบหืด

 

 

กระเทียม

กระเทียม

 

กระเทียม สมุนไพรที่หาได้ง่ายมากๆ อีกอย่างมีอยู่แทบทุกครัว กระเทียมมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการโรคทางเดินหายใจอักเสบ โดยเฉพาะแบบเรื้อรัง เนื่องจากมีสรรพคุณเป็นยาปฏิชีวนะ และเสริมภูมิคุ้มกัน

 

 

หนุมานประสานกาย พืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาอาการโรคทางเดินหายใจได้ผล ใช้รักษาอาการ ปอดบวม แผลในปอด วัณโรค ไอกรน ภายในใบมีสารซาโปนิน มีฤทธิ์ขยายหลอดลม ลดการหลั่งของสารก่อภูมิแพ้

นี่เป็นพืชสมุนไพรที่หาได้ไม่ยาก และสามารถช่วยเราได้ในเรื่องระบบทางเดินหายใจ ซึ่งคนปัจจุบันนี้ควรรู้เอาไว้ เพราะดูเหมือนชีวิตเราจะอยู่ใกล้กับมลพิษทางอากาศกันมากเหลือเกิน…

ส.ค. 082014
 

มะลิ สมุนไพรไทย

ใกล้ถึงวันที่ 12 สิงหาคมเข้าไปทุกที ยังไงทางเว็บไทยสมุนไพร.net ขออวยพรให้คุณแม่ทุกท่านมีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรงนะครับ และขอเป็นตัวแทนสำหรับลูกๆทุกคนในการกล่าวคำขอบคุณ สำหรับพระคุณมากมายที่มีให้ลูก พูดถึงวันแม่ แน่นอนต้องนึกถึงดอกมะลิ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวันนี้  ซึ่งหลายท่านนำมามอบให้แม่เพื่อเป็นการแสดงถึงการสำนึกในพระคุณ แต่รู้หรือไม่ มะลินั้นก็จัดว่าเป็น สมุนไพรไทย ชนิดหนึ่งเหมือนกัน ลองมารู้จักดอกมะลิในอีกมุมกันดูครับ

 

มารู้จักมะลิกันเถอะ

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Jasminum sambac Ait วงศ์  Oleaceae
  • ชื่ออังกฤษ Arabian jasmine
  • ชื่อท้องถิ่น  ข้าวแตก (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) เตียงมุน (ละว้า-เชียงใหม่)มะลิป้อม (เหนือ) มะลิหลวง (แม่ฮ่องสอน)

ต้นกำเนิด ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของดอกมะลิ
จริงๆหลายคนอาจคิดว่าดอกไม้สมุนไพรไทยเช่นมะลิเป็นดอกไม้ที่มีต้นกำเนิดในไทย แต่จริงแล้วกลับมีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย ส่วนใหญ่ใช้ในพิธีทางศาสนา ซึ่งคล้ายๆกับเมืองไทยที่นำมาร้อยบูชาพระ ซึ่งการนำพันธ์ดอกมะลิเข้ามาในไทยเมื่อไหร่ผมเองก็ไม่มีข้อมูล  สำหรับลักษณะมะลินั้น   มะลิไม้พุ่มขนาดสูงไม่เกิน 2 เมตรแตกกิ่งสาขามาก กิ่งอ่อนมีข้นสั้น ใบ เดี่ยวออก ตรงข้ามกัน ขอบใบเรียบ ดอก เดี่ยวหรือออกเป็นช่อละ 2-3 ดอก กลีบเป็นหลอดสีขาว กลีบดอกสีขาวมีกลิ่นหอม    เรื่องของดอกขอบอกนิดนึงจริงแล้วมะลิมีสายพันธ์เกือบ 200 สายพันธ์ ซึ่งบางสายพันธ์เป็นดอกสีเหลืองก็มีนะครับ**  แต่หายากและไม่นิยมเท่าดอกสีขาว

สรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทยของมะลิ

  • สุวคนธบำบัด หรือการบำบัดด้วยกลิ่นหอม  น้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิเรียกว่า jasmine oil ซึ่งมีกลิ่นหอมหวาน ให้ความรู้สึกอบอุ่น มีผลต่ออารมณ์ ลดอาการซึมเศร้า ผ่อนคลายความตึงเครียดและความกลัว บรรเทาอาการปวดศีรษะ ใช้ทำหัวน้ำหอมและแต่งกลิ่นในเครื่องสำอางหลายชนิด   ซึ่งการ  jasmin oil จากดอกมะลิ ในอดีตใช้วิธีอองเฟลอราจ (enfkeurage) เป็นการสกัดโดยการใช้ไขสัตว์ดูดซับกลิ่นไว้ แล้วนำไปละลายในแอลกอฮอล์ ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก จึงเปลี่ยนมาเป็นวิธีสกัดด้วยตัวละลายเฮกเซน หรือปิโตเลียมอีเทอร์ โดยนำดอกไม้มาแช่ในตัวทำละลาย จากนั้นกรองกากดอกไม้ออก แล้วนำสารสกัดไประเหยตัวทำละลายออก สารหอมที่ได้เรียกว่า concrete เวลาใช้ นำมาละลายในแอลกอฮอร์เรียก absolute ใช้ทาภายนอกเท่านั้น ปัจจุบันสามารถสังเคราะห์ได้ราคาที่ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน
  • ดอกสด  ใช้ร้อยมาลัยและอบขนมให้มีกลิ่นหอม ดอกเริ่มบานใช้ลอยน้ำให้มีกลิ่นหอม เพื่อใช้ดื่มและทำขนม เช่น ลอดช่องน้ำกะทิ ซ่าหริ่ม ทับทิมกรอบ
  • ดอกแก่  เข้ายาหอม แก้หืด บำรุงหัวใจ
  • ใบ  แก้ไข้ ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องเสีย พอกแก้ฟกชำ แผลเรื้อรัง โรคผิวหนัง บำรุงสายตา ช่วยขับถ่าย
  • ราก  แก้ร้อนใน เสียดท้อง รักษาหลอดลมอักเสบ ขับประจำเดือน แก้ปวดเคล็ดขัดยอก

ข้อมูลเพิ่มเติมอื่นและข้อควรระวัง   น้ำมันหอมระเหย จากดอกมี benzyl alcohol, benzylacetate, D-linalool, jasmine, anthranilacid methyester, indol, P-cresol, geraniol, methyljasmonat   ใน ใบ มี jasminin, sambacin    ซึ่งน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิให้ใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทานและห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์

บทความนี้ re-write ใหม่อีกครั้งจากบทความเดิมในปี 2555  และขอบคุณข้อมูลจาก คุณ dogstar ใน blog OKnation  และข้อมูลทางสรรพคุณบางส่วนนำมาจาก cyclopaedia.net

พ.ย. 102012
 

จริงๆแล้วเมืองไทยนั้นอุดมไปด้วยพืชผักผลไม้ มากมาย บางอย่างเดินไปตลาดก็ซื้อหาจับจ่ายมาทานกันได้แล้ว แต่บางอย่างแทบไม่ต้องไปตลาดเลย แค่เดินไปริมรั้วก็สามารถเด็ดมาทานได้ง่ายๆ และพืชผักสมุนไพรไทย ที่เราจะพูดถึงในวันนี้ก็อยู่ในประเภทที่ว่าเดินไปริมรั้ว ก็สามารถเด็ดทานได้ พืชชนิดนั้นก็คือ ผักตำลึงนั่นเองครับ

สำหรับตำลึงนั้นเป็นพืชที่แพร่พันธ์ได้ง่าย มีอยู่ทุกภูมิภาคของเมืองไทย เรียกว่าไปที่ไหนก็มีให้เห็น สามรถนำมาประกอบเป็นอาหารได้หลากหลาย ยกตัวอย่างก็ได้ตั้งแต่ใส่ต้มจืด ผัดหมูสับใส่ตำลึง แม้แต่กระทั่งเวลาลวกมาม่าตอนสิ้นเดือน ที่กระเป๋าเริ่มแบน ก็ได้เจ้าตำลึงนี่แหละที่เพิ่มคุณค่าทางอาหาร แต่นอกจากประโยชน์ในด้านการประกอบอาหารแล้ว ตำลึงยังมีสรรพคุณทางด้านสมุนไทยอีกมากที่เราอาจยังไม่รู้ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับเจ้าตำลึงกันนะครับ

ตำลึง ผักตำลึงชื่อทั่วไป    ตำลึง หรือ Lvy Gourd, Coccinia

ชื่อทางวิทยาศาสตร์   Cocconia grandis (L.) Voigt

ชื่ออื่น ๆ   ผักแคบ (ทางภาคเหนือ), แคเด๊าะ (เผ่ากะเหรี่ยงและในแม่ฮองสอน), สี่บาท (ภาคกลาง ยังจำที่ครูให้ท่องกันได้ไหม หนึ่งตำลึงเท่ากับสี่บาท), ผักตำนิน (ภาคอีสาน)

ลักษณะทั่วไปของตำลึง

  • ลำต้น ตำลึงเป็นไม้เลื้อย มีมือจับเพื่อเอาไว้ยึดเกาะหลักเช่นแนวรั้ว อย่างที่เราเห็น หรือยึดเกาะต้นไม้ต่างๆ เถาตำลึงจะเป็นสีเขียว
  • ใบ ส่วนใบของตำลึงเป็นใบเดี่ยว สลับกันไปมาตามเถา ลักษณะใบจะเป็น เป็น 3 แฉก หรือบางที  5 แฉก ขนาดประมาณ 4-8 ซม. โคนใบมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ
  • ดอก ลักษณะดอกของตำลึง เป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ มีสีขาว มีทั้งออกดอกเดี่ยวๆ และออกเป็นกลุ่มสองถึงสามดอกก็มี
  • ผล  มีรูปร่างคล้ายแตงกวา แต่มีขนาดเล็กกว่าผลแตงกวา ในขณะที่เป็นผลอ่อนจะเป็นผลสีเขียวมีลายสีขาว พอสุกจะกลายเป็นสีแดงสด

คุณค่าทางโภชนาการของตำลึง

ในใบสีเขียวของตำลึง อุดมไปด้วยวิตามินวิตามินเอ ช่วยในการมองเห็น มีเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งและโรคหัวใจขาดเลือด มี fiber หรือกากใยอาหารที่ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย นอกจากนี้ในตำลึง ยังมีแคลเซียม ที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน

สรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทย

จากตำรายาด้านสมุนไพร มีการระบุถึงสรรพคุณของตำลึงโดยแยกเป็นส่วนต่างๆ ของตำลึงไว้ดังนี้

  • ใบ ใช้เป็นยาเขียว ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (อันนี้เป็นสำนวนของคนโบราณหมายถึงบรรเทาอาการไข้ตัวร้อน)  เป็นยาพอกรักษาผิวหนัง รักษาผื่นคันที่เกิดจาก หมามุ่ย ตำแย(หรือพืชอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการคัน แก้ปวดแสบปวดร้อน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้จุกเฉียด  แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
  • ดอก สรรพคุณใช้บรรเทาอาการคันผิวหนังได้
  • เมล็ด ใช้ผสมกับน้ำมันมะพร้าวทาแก้หิดได้ (หิดเป็นโรคที่เกิดจากปรสิตที่เรียกว่าตัวหิด หรือ Scabies miteไชเข้าผิวหนังทำให้เกิดตุ่มคัน)
  • ราก ลดไข้ อาเจียน ลดความอ้วน ฝนทาภายนอก แก้ฝีต่างๆ แก้ปวดบวม แก้พิษร้อนใน แก้พิษแมลงป่องหรือตะขาบข่อย(อันนี้ถ้าโดนแนะนำให้หาหมอนะครับ)
  • เถา ใช้ชงกับน้ำดื่มแก้อาการวิงเวียนศรีษะ เป็นยาทาพอกแก้โรคผิวหนัง มีสรรพคุณลดไข้เช่นเดียวกับใบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • ทั้งต้น (ราก ใบ เถา) นำมาเป็นยารักษาแก้โรคผิวหนัง ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้หลอดลมอักเสบ กำจัดกลิ่นตัว

สูตรยาสมุนไพรไทยจากตำลึง

1. สูตรยาถอนพิษ (จากพืช ที่ทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน) ใช้ใบสดตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ทาบรเวณที่ถูกพิษ ปวดแสบปวดร้อน จะสามารถบรรเทาอาการลงได้

อาหารที่ทำจากผักตำลึง2. สูตรยาช่วยย่อยอาหาร จำพวกคาร์โบไฮเดรต  ใช้ยอดอ่อน และใบ ปรุงเป็นอาหาร จะสามรถช่วยระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้นได้

3.สูตรยารักษา อาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย ใช้ใบสดหนึ่งกำมือ ล้างให้สะอาด แล้วนำมาตำให้ละเอียด โดยผสมน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นน้ำจากใบมาทาบริเวณที่มีอาการ พอน้ำแห้งแล้วทาซ้ำจนกว่าอาการจะบรรเทา

ทั้งหมดนี้คือประโยชน์จากตำลึง พืชสมุนไพรข้างรั้วที่บางครั้งเราอาจมองข้ามมันไป