จริงๆแล้วเมืองไทยนั้นอุดมไปด้วยพืชผักผลไม้ มากมาย บางอย่างเดินไปตลาดก็ซื้อหาจับจ่ายมาทานกันได้แล้ว แต่บางอย่างแทบไม่ต้องไปตลาดเลย แค่เดินไปริมรั้วก็สามารถเด็ดมาทานได้ง่ายๆ และพืชผักสมุนไพรไทย ที่เราจะพูดถึงในวันนี้ก็อยู่ในประเภทที่ว่าเดินไปริมรั้ว ก็สามารถเด็ดทานได้ พืชชนิดนั้นก็คือ ผักตำลึงนั่นเองครับ
สำหรับตำลึงนั้นเป็นพืชที่แพร่พันธ์ได้ง่าย มีอยู่ทุกภูมิภาคของเมืองไทย เรียกว่าไปที่ไหนก็มีให้เห็น สามรถนำมาประกอบเป็นอาหารได้หลากหลาย ยกตัวอย่างก็ได้ตั้งแต่ใส่ต้มจืด ผัดหมูสับใส่ตำลึง แม้แต่กระทั่งเวลาลวกมาม่าตอนสิ้นเดือน ที่กระเป๋าเริ่มแบน ก็ได้เจ้าตำลึงนี่แหละที่เพิ่มคุณค่าทางอาหาร แต่นอกจากประโยชน์ในด้านการประกอบอาหารแล้ว ตำลึงยังมีสรรพคุณทางด้านสมุนไทยอีกมากที่เราอาจยังไม่รู้ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับเจ้าตำลึงกันนะครับ
ชื่อทั่วไป ตำลึง หรือ Lvy Gourd, Coccinia
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Cocconia grandis (L.) Voigt
ชื่ออื่น ๆ ผักแคบ (ทางภาคเหนือ), แคเด๊าะ (เผ่ากะเหรี่ยงและในแม่ฮองสอน), สี่บาท (ภาคกลาง ยังจำที่ครูให้ท่องกันได้ไหม หนึ่งตำลึงเท่ากับสี่บาท), ผักตำนิน (ภาคอีสาน)
ลักษณะทั่วไปของตำลึง
- ลำต้น ตำลึงเป็นไม้เลื้อย มีมือจับเพื่อเอาไว้ยึดเกาะหลักเช่นแนวรั้ว อย่างที่เราเห็น หรือยึดเกาะต้นไม้ต่างๆ เถาตำลึงจะเป็นสีเขียว
- ใบ ส่วนใบของตำลึงเป็นใบเดี่ยว สลับกันไปมาตามเถา ลักษณะใบจะเป็น เป็น 3 แฉก หรือบางที 5 แฉก ขนาดประมาณ 4-8 ซม. โคนใบมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ
- ดอก ลักษณะดอกของตำลึง เป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ มีสีขาว มีทั้งออกดอกเดี่ยวๆ และออกเป็นกลุ่มสองถึงสามดอกก็มี
- ผล มีรูปร่างคล้ายแตงกวา แต่มีขนาดเล็กกว่าผลแตงกวา ในขณะที่เป็นผลอ่อนจะเป็นผลสีเขียวมีลายสีขาว พอสุกจะกลายเป็นสีแดงสด
คุณค่าทางโภชนาการของตำลึง
ในใบสีเขียวของตำลึง อุดมไปด้วยวิตามินวิตามินเอ ช่วยในการมองเห็น มีเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งและโรคหัวใจขาดเลือด มี fiber หรือกากใยอาหารที่ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย นอกจากนี้ในตำลึง ยังมีแคลเซียม ที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน
สรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทย
จากตำรายาด้านสมุนไพร มีการระบุถึงสรรพคุณของตำลึงโดยแยกเป็นส่วนต่างๆ ของตำลึงไว้ดังนี้
- ใบ ใช้เป็นยาเขียว ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (อันนี้เป็นสำนวนของคนโบราณหมายถึงบรรเทาอาการไข้ตัวร้อน) เป็นยาพอกรักษาผิวหนัง รักษาผื่นคันที่เกิดจาก หมามุ่ย ตำแย(หรือพืชอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการคัน แก้ปวดแสบปวดร้อน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้จุกเฉียด แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
- ดอก สรรพคุณใช้บรรเทาอาการคันผิวหนังได้
- เมล็ด ใช้ผสมกับน้ำมันมะพร้าวทาแก้หิดได้ (หิดเป็นโรคที่เกิดจากปรสิตที่เรียกว่าตัวหิด หรือ Scabies miteไชเข้าผิวหนังทำให้เกิดตุ่มคัน)
- ราก ลดไข้ อาเจียน ลดความอ้วน ฝนทาภายนอก แก้ฝีต่างๆ แก้ปวดบวม แก้พิษร้อนใน แก้พิษแมลงป่องหรือตะขาบข่อย(อันนี้ถ้าโดนแนะนำให้หาหมอนะครับ)
- เถา ใช้ชงกับน้ำดื่มแก้อาการวิงเวียนศรีษะ เป็นยาทาพอกแก้โรคผิวหนัง มีสรรพคุณลดไข้เช่นเดียวกับใบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ทั้งต้น (ราก ใบ เถา) นำมาเป็นยารักษาแก้โรคผิวหนัง ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้หลอดลมอักเสบ กำจัดกลิ่นตัว
สูตรยาสมุนไพรไทยจากตำลึง
1. สูตรยาถอนพิษ (จากพืช ที่ทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน) ใช้ใบสดตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ทาบรเวณที่ถูกพิษ ปวดแสบปวดร้อน จะสามารถบรรเทาอาการลงได้
2. สูตรยาช่วยย่อยอาหาร จำพวกคาร์โบไฮเดรต ใช้ยอดอ่อน และใบ ปรุงเป็นอาหาร จะสามรถช่วยระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้นได้
3.สูตรยารักษา อาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย ใช้ใบสดหนึ่งกำมือ ล้างให้สะอาด แล้วนำมาตำให้ละเอียด โดยผสมน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นน้ำจากใบมาทาบริเวณที่มีอาการ พอน้ำแห้งแล้วทาซ้ำจนกว่าอาการจะบรรเทา
ทั้งหมดนี้คือประโยชน์จากตำลึง พืชสมุนไพรข้างรั้วที่บางครั้งเราอาจมองข้ามมันไป