ก.ย. 082013
 

ตอนเด็กๆ ระหว่างทางเดินกลับบ้านจะมีวัชพืชชนิดหนึ่งที่ผมมักจะเล่นด้วยประจำ นั่นคือเวลาที่เราจับใบของมันใบของมันจะหุบอัตโนมัติ จากต้นเขียวๆจะกลายเป้นต้นแดงๆเหมือนมันเหี่ยวภายในพริบตา  แปลกดีเหมือนกัน พืชชนิดนี้มีชื่อว่าไมยราบนั่นเอง หลายคนมักมองว่าไมยราบเป็นเพียงวัชพืชที่ไม่มีค่าอะไร แต่จริงๆแล้วไมยราบจัดเป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่งที่มีคุณค่ามากทีเดียว มารู้จักพืชสมุนไพรชนิดนี้กันเถอะครับ.

ไมยราบ

ชื่อโดยทั่วไป  ไมยราบ หรือ Sensitive plant (ชื่อบอกลักษณะได้อย่างไร ว่าเป็นพืชที่อ่อนไหว แค่มีอะไรมากระทบก็หุบใบได้เอง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mimosa pucida L.   วงศ์ : Fabaceae (Leguminosae-Mimosoideae)
ชื่อตามอื่นๆภูมิภาค : เนื่องจากไมยราบเป็นสมุนไพร ที่พบได้ทุกภูมิภาคของไทย จึงมีชื่อเรียกต่างๆกัน ได้แก่          กระทืบยอด  หนามหญ้าราบ (จันทนบุรี)  กะหงับ (ภาคใต้)  ก้านของ (นครศรีธรรมราช)  ระงับ (ภาคกลาง)  หงับพระพาย (ชุมพร)  หญ้าจิยอบ  หญ้าปันยอด (ภาคเหนือ)
ถิ่นกำเนิด : อเมริกาใต้ แต่ประเทศไทยนำเข้าโดยกรมทางหลวงเพื่อช่วยคลุมหน้าดิน นับว่ามีประโยชนืมากทีเดียว

ลักษณะต้นไมยราบ : ไมยราบเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ทอดเลื้อยตามพื้นดิน บางครั้งพบว่าสูงถึง 1 ม. มีขนหยาบปกคลุมลำต้น แกนก้านใบ ท้องใบ และช่อดอก  ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น แกนกลางรวมก้านใบยาว 2.5-5 ซม. ใบประกอบย่อยมี 1-2 ใบ ยาว 1.5-7 ซม. ใบย่อยมี 12-25 คู่ รูปขอบขนานหรือคล้ายๆ รูปเคียว ยาว 0.5-1 ซม.  ช่อดอกออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ตามซอกใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2.5-4 ซม.  ดอกจำนวนมาก ไร้ก้าน กลีบเลี้ยงเล็กมากประมาณ 0.1 มม. กลีบดอกรูประฆังแคบ ยาวประมาณ 2 มม. กลีบดอกมนกลม ยาว 0.5-0.8 มม. เกสรเพศผู้มี 4 อัน รังไข่ยาวประมาณ 0.5 มม. เกลี้ยง  ฝักมีหลายฝักในแต่ละช่อดอก รูปขอบขนาน ตรง ยาว 1.5-1.8 ซม. มีขนแข็งตามขอบ

สรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทย
ราก      แก้ไอ ขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง แก้ระบบการย่อยอาหารของเด็กไม่ดี บำรุงกระเพาะอาหาร ทำให้ตาสว่าง ระงับประสาท แก้บิด ขับปัสสาวะ รักษาโรคปวดเวลา                 มีประจำเดือน ถ้าไข้ขนาดสูงมากๆ จะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน แก้ริดสีดวงทวารรสขมเล็กน้อย ฝาด ปวดข้อ กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง

ต้น        ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ขับระดูขาว ขับโลหิต
ใบ         แก้เริม งูสวัด โรคพุพอง ไฟลามป่า
ทั้งต้น  ขับปัสสาวะแก้ไตพิการ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ขับระดูขาว แก้ไข้ออกหัด แก้นอนไม่หลับ แก้กระเพาะอาหารอักเสบ สงบประสาท แก้ลำไส้อักเสบ แก้เด็กเป็น                               ตานขโมย แก้ผื่นคัน แก้ตาบวมเจ็บ แก้แผลฝี

จะเห็นว่าไมยราบมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทยมากมายจริงๆ จะลองเอามาปลูกดูก็ไม่เสียหลายนะครับ

ขอบคุณที่มาของข้อมูล  : คุณนพพล เกตุประสาท  หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม เผยแพร่ใน ใน web ของ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

ธ.ค. 262012
 

ผมเองคิดอยู่ตั้งนานว่าจะเขียนถึงสมุนไพรตัวนี้ดีไหม เพราะปัจจุบันมีคนเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับมะรุมเอาไว้มากเหลือเกิน รวมถึงมีการทำเป็นยาสารพัดชนิด สรรพคุณก็ว่ากันไปต่างๆนานา ตั้งแต่รักษามะเร็งไปจนถึงเอดส์เลยก็มี ซึ่งบางทีผมว่ามันก็อาจดูเกินจริงไปหน่อย แน่นอนมะรุมเป็นพืชที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้ามันมีการพูดกันจนโอเว่อร์เกินไป ผมก็ว่าแทนที่จะทำให้คนรู้จักสมุนไพรตัวนี้ กลับทำให้สมุนไพรตัวนี้ขาดความน่าเชื่อถือ ผมจึงได้เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อให้ทุกท่านได้รู้จักกับมะรุม ในแบบที่ควรจะเป็นจริงๆ

มารู้จักมะรุมกันก่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Moringa oleifera  Lam.

มะรุมชื่อโดยทั่ไป :  มะรุม หรือ Horse radish tree, Drumstick  (คำนี้แปลว่าไม้กลอง สังเกตุต้นมะรุมดู)

ชื่ออื่น :  กาเน้งเดิง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ผักเนื้อไก่ (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) ผักอีฮึม ผักอีฮุม มะค้อนก้อม (ภาคเหนือ)  เส่ช่อยะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะของมะรุม

  •  ลำต้น เป็นไม้ยืนต้นสูง 3-6 เมตรหรือใหญ่กว่าเปลือกสีขาว รากหนานุ่ม
  • ใบ  ใบสลับแบบขนนก 2 หรือ 3 ชั้น ยาว 20-60 ซนติเมตร ใบชั้นหนึ่งมีใบย่อย 8-10 คู่ ใบแบบรูปไข่รูปไข่หัวกลับรูปคู่ขนาน ใต้ใบสีเขียวอ่อน ใบอ่อนมีขนสีเทาขนาดใบยาว 1-3 เซนติเมตร
  • ดอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวหรือขาวอมเหลืองแต้มสีแดงเข้าที่ใกล้ฐานด้านนอกยาว 1.4-1.9 เซนติเมตรกว้าง 0.4 เซนติเมตรปลายกลีบดอกกว้างกว่าโคน 4 กลีบ ตั้งตรง เกสรตัวผู้แยกจากกันสมบูรณ์ 5 อันไม่สมบูรณ์ 5 อันเรียงสลับกันมีขนสีขาว ที่โคนอับเกสรสีเหลืองเกสรตัวเมีย 1 อัน ผลยาวเป็นฝัก 3 เหลี่ยม เมล็ดมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร 3 ปีก

เมื่อรู้จักกับมะรุมแล้ว ขออนุญาตพูดถึงมะรุมต่อ ดังที่บอกไปในตอนต้น ปัจจุบันมีคนพูดถึงมากเหลือเกินโดยเฉพาะบรรดาบริษัทผลิตอาหารเสริมต่างๆที่มีการนำมะรุมมาแปรรูปเป็นแคปซูลสกัด ในกรณีที่ทำเป็นแคปซูลโดยบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กรณีนี้ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าเป็นกรณีที่บอกว่าใช้เป็นยารักษาสารพัดโรคล่ะก็ อันนี้ต้องคุยกันยาว เพื่อตอบข้อสงสัยผมขอเขียนลักษณะถามตอบเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านและการจับประเด็นก็แล้วกันครับ

มะรุมเป็นพืชที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงจริงหรือ ?

ข้อนี้ตอบว่าจริงครับ อันนี้ยอมรับเลยมะรุมมีแร่ธาตุและสารอาหารหลายชนิด โดยที่ฝักมะรุม  100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 32 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย เส้นใย 1.2 กรัม แคลเซียม 9 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 26 มิลลิกรัม เหล็ก 1.5 มิลลิกรัม วิตามินเอ 532 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.05 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.6 มิลลิกรัม วิตามินซี 262 มิลลิกรัม

มะรุมรักษาโรคเอดส์ได้จริงหรือไม่ ? ตอบว่ายังไม่มีการศึกษาในส่วนนี้อย่างเป็นทางการ  สรรพคุณของมะรุมมีแต่เพียงว่าเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเท่านั้น ดังนั้นสำหรับผู้ป่วย HIV ยาต้านไวรัสที่คุณหมอจัดให้ ยังคงจำเป็นอยู่

มะรุมรักษาเบาหวานได้หรือไม่ ? ไม่มีสมุนไพรชนิดไหนที่รักษาเบาหวานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มะรุมสามรถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นเดียวกับพืชสมุนไพรหลายชนิดเช่นมะระ แต่หากมีอาการเบาหวานจริงๆ การรักษาควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบันยังคงดีที่สุด

สรรพคุณของมะรุมจริงๆแล้วคืออะไร

หากท่านได้ลองค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลอื่นๆอาจจะพบมีการอ้างประโยชน์ของมะรุมมากกว่านี้ แต่ผมจะนำเสนอเฉพาะประเด้นที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามะรุมมีสรรพคุณในข้อนั้นจริง ๆ ส่วนประเด็นที่ยังเป้ข้อสงสัยและถกเถียงผมจะขออนุญาตไม่นำเสนอ

1. ใช้รักษาโรคขาดอาหารในเด็กแรกเกิด ถึง 10 ขวบ (มีการทดลองใช้ในประเทศแถบแอฟริกาที่มีปัญหาเรื่องภาวะโภชนาการ )

2. ใช้รักษาผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานให้อยู่ในภาวะควบคุมได้ ทำให้สามารถลดการใช้ยาลงดังที่กล่วไป แต่ต้องความเห็นชอบและการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ผู้รักษาด้วย

3. สามรถลดความดันโลหิตได้

4. ช่วยเพิ่มและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

5. ถ้ารับประทานสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคมะเร็ง (เนื่องจากสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด)

6. รักษาโรคลำไส้อักเสบ โรคเกี่ยวกับท้อง โรคพยาธิในลำไส้ เป็นต้น

7. รักษาปอดให้แข็งแรง รักษาโรคทางเดินของลมหายใจ และโรคปอดอักเสบ

8.บำรุงสายตา (เนื่องจากวิตามินเอในมะรุม)

สุดท้ายอยากจะฝากนิดนึงนะครับ ว่ามะรุมเป็นพืชสมุนไพรไทยที่มีคุณค่าในตัวมันอยู่แล้ว แต่ผมอยากให้มองว่ามะรุมเป็นผักชนิดหนึ่ง ที่มีประโยชน์ ดีกว่าการมองมะรุมเป็นยาที่มีความพิเศษหรืออัศจรรย์ หรือหากจะมองเป็นยาจริง ก็ขอให้มองเป็นตัวเลือกหนึ่งเพื่อสุขภาพที่ใช้ควบคู่กับการรักษาในกระแสหลักจะเป็นการดีที่สุด

พ.ย. 172012
 

ถ้าหลายคนติดตามเว็บนี้มาเป็นประจำคงจำกันได้นะครับ ว่าผมเคยเขียนเรื่องกระเจี๊ยบไว้ในตอน “กระเจี๊ยบ สมุนไพรสีสดใส รสชาติถูกใจ“แต่กระเจี๊ยบที่ผมพูดถึงในตอนนั้นคือกระเจี๊ยบแดง ซึ่งส่วนใหญ่คนมักจะนำไปเป็นเครื่องดื่ม แต่ยังมีกระเจี๊ยบอีกชนิดหนึ่งที่ผมยังไม่ได้พูดถึงนั่นคือกระเจี๊ยบเขียว นั่นเอง สำหรับกระเจี๊ยบเขียวในบ้านเราจะนิยมนำไปลวกจิ้มกับน้ำพริก เชื่อว่าหลายคนก็คงก็เคยทาน ตามตลาดร้านที่ขายน้ำพริกผักลวกก็มีให้เห็นบ่อยๆ ยังไงก็ลองหาทานกันดูนะครับ เพราะนอกจากรสชาติจะดีแล้ว ยังมีสรรพคุณด้านสมุนไพรอีกมากเลยทีเดียว ก่อนที่จะบอกว่ากระเจี๊ยบเขียวมีสรรพคุณอะไร ขอแนะนำชื่อเสียงเรียงนามและลักษณะของพืชชนิดนี้ก่อนนะครับกระเจี๊ยบเขียว

ชื่อทั่วไป  กระเจี๊ยบเขียว หรือ  Lady ‘ s Finger (แปลตรงตัวคือเล็บมือนางนั่นเอง แต่ต้นเล็บมือนางของไทยเป็นอีกต้นหนึ่งนะครับ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmoschus esculentus Moench.

ชื่อวงศ์   MALVACEAE

ชื่ออื่น กระเจี๊ยบมอญ กระเจี๊ยบ มะเขือมื่น ส้มพม่า มะเขือหวาย มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือละโว้ กระต้าด ถั่วเละ กระเจี๊ยบขาว

 ลักษณะของกระเจี๊ยบเขียว

  • ลำต้น  มีขนหยาบและมีความสูงประมาณ 1-2  เมตร
  • ใบ       ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว คล้ายฝ่ามือเรียงสลับกัน และมีขนหยาบ
  • ดอก   มีสีเหลือง ที่โคนกลีบด้านในมีสีม่วงออกแดง ออกตามซอกใบ ก้านชูเรณูรวมกันเป็นลักษณะคล้ายหลอด
  • ฝัก      คล้ายนิ้วมือผู้หญิง (ดังชื่อในภาษาอังกฤษ) ตามฝักมีขนอ่อนๆทั่วฝัก มีสันเป็นเหลี่ยมตามยาว 5 เหลี่ยม ฝักกระเจี๊ยบมีทรงยาวสีเขียว ฝักอ่อนมีรสชาติหวานกรอบอร่อย ส่วนฝักแก่จะมีเนื้อเหนียว

การนำกระเจี๊ยบเขียวไปประกอบอาหาร

กระเจี๊ยบเขียวนอกจากใช้ลวกจิ้มเป็นเครื่องเคียงกับน้ำพริก ยังใช้ปรุงอาหารได้หลายชนิด  เช่น  แกงส้ม  แกงใส่ปลาย่าง  สุดแต่จะนำไปประยุกต์ สำหรับคนไม่เคย รับประทาน กระเจี๊ยบเขียว อาจจะรับประทานได้ยากกันสักหน่อย  เพราะ ฝักของมัน ข้างในจะมี ยางเมือก ๆ หุ้มเมล็ดอยู่ แต่ทานบ่อยๆจะชินเอง คนสมัยก่อนนิยมเอาไป ต้ม หรือ ต้มราดกะทิสด (การราดกระทิสดบนผักเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งในการดึงวิตามินที่ละลายในไขมันได้ให้ออกมาจากผักให้ร่างกายดูดซึมให้ใช้ได้ง่ายยิ่งขึ้น) กระเจี๊ยบเขียวหากกินกับ น้ำพริกกะปิ ปลาทู จะให้รสชาติที่ดีมากๆ ลองทานดูได้นะครับ

สรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทย
กระเจี๊ยบเขียว เป็นพืชที่มีคุณสรรพคุณด้านสมุนไพรในการช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ เพราะในฝักกระเจี๊ยบนั้นมีสารเมือกพวกเพ็กติน (Pectin) และกัม (Gum) ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้  รักษาความดันให้เป็นปกติ เป็นยาบำรุงสมอง มีสรรพคุณเป็นยาระบายและสามารถแก้โรคพยาธิตัวจี๊ดได้ด้วย แต่ต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย15วัน(แต่ข้อนี้ผมแนะนำให้ใช้ยาแผนปัจจุบันมากกว่า)

นอกจากนั้นยังมีสูตรการทานกระเจี๊ยบเขียวเป็นยาสมุนไพรต่างๆดังนี้

รับประทานฝักกระเจี๊ยบ 10 -15 ฝัก ตอนเย็นหรือก่อนนอน สามารถ ลดอาการท้องผูก
รับประทาน 3 – 5 ฝัก ก่อนอาหาร ทุกวัน สามารถ รักษา แผลในกระเพาะอาหาร
รับประทาน 10 – 15 ฝัก ทุกวัน สามารถ บำรุงตับ
รับประทาน 5 ฝัก ก่อนอาหาร 3 มื้อ ติดต่อกันทุกวัน สามารถ กำจัด พยาธิตัวจี๊ด
รับประทาน 30 – 40 ฝัก ตอนเย็น หรือ ก่อนนอน สามารถ ดีท็อกซ์ลำไส้ ขับสารพิษ อุจจาระตกค้าง

คุณค่าทางโภขนาการของกระเจี๊ยบเขียว    

กรเจี๊ยบเขียวเส้นมีใยอาหารตามธรรมชาติ ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย  มีแคลเซียมช่วยในการบำรุงกระดูกและฟัน และยังมี วิตามินต่างๆสูง และนอกจากนั้นยังมีโฟเลตสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง บำรุงสมอง และจำเป็นต่อทารกในครรภ์

 

 

ต.ค. 172012
 

พูดถึงมะขามป้อมเชื่อว่าทุกคน คงรู้จักแน่ ส่วนคำว่า “ชุ่มคอ ชื่นใจ” ในหัวข้อของเรื่องนี้หล่ะ หลายคนอาจจะจะนึกไม่ถึงว่ามะขามป้อมนี่นะ ทำให้ชุ่มคอชื่นใจได้ ไม่ใช่หมากหอมเยาวราชซะหน่อย แต่มันก็ป็นเรื่องจริงครับ สรรพคุณทางสมุนไพรไทยของมะขามป้อมทำให้เราชุ่มคอ ชื่นใจได้จริงๆ เรามารู้จักมะขามป้อมกันเถอะ

มะขามป้อมชื่อโดยทั่วไป Emblic myrablan , Ma-lacca tree.

ชื่อวิทยาศาสตร์ของมะขามป้อม Phyllanthus emblica L.

เป็นพืชวงศ์   EUPHORBIACEAE

ลักษณะของมะขามป้อม

มะขามป้อมนั้นเป็นไม้ทนแล้ง (น้ำน้อยก็ปลูกได้ มะขามป้อมเอาอยู่ แต่ถ้าน้ำมากเหมือนที่ กทม.ตอนปี 54 ไม่รู้จะเอาอยู่หรือเปล่า) ต้นมะขามป้อมสูงประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นเป็นสีเทาอมน้ำตาล ใบเป็นใบเรียงเดี่ยว เรียวสลับกัน ออกดอกเป็นช่อ ผลอ่อนมีสีเหลืองเขียว พอเริ่มแก่ผลจะเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล

สรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทยของมะขามป้อม

เมื่อเรารู้จักกับลักษณะของต้นมะขามป้อมแล้ว คราวนี้ก็ถึงที ที่เราจะรู้จักกับสรรพคุณของมะขามป้อมบ้าง มาดูกันเลยนะครับว่ามะขามป้อมมีดียังไง

ผลสด รับประทานวันละ 1-2 ลูก ทำให้ชุ่มคอ คิดว่าถ้าเคยทานคงจำความรู้สึกได้ ตอนกินจะรู้สึกเปรี้ยวๆฝาดๆ แต่พอทานน้ำตามเท่านั้นแหละ จะรู้สึกหวานและชุ่มคอมาก ตามตำราสมุนไพรไทย มีสูตรอยู่ว่า ให้นำมะขามป้อมผลสดจำนวน 10 ผล มาบดและคั้นน้ำผสมน้ำผึ้ง เติมเกลือนิดหน่อย ดื่มวันละครั้ง จะเป็นยา แก้ไอ ขับเสมหะชั้นเลิศ นอกจากนั้นยังทำให้ร่างกายสดชื่น ต้านอนุมูลอิสระ (ตำรายาสมุนไพรไทยไม่ได้บอกถึงการต้านอนุมูลอิสระเอาไว้นะครับ เรื่องต้านอนมูลอิสระเป็นข้อมูลจากงานวิจัยสมัยใหม่ )

ผลมะขามป้อมตากแห้ง แม้จะตากแห้ง แต่ยังคงฤทธิ์ของสมุนไพรไทยเอาไว้อยู่ การตากแห้งเป้นวิธีถนอมอาหารอย่างหนึ่ง เพื่อนำมาใช้เป็นยา เวลาใช้ให้นำมาผลตากแห้งมาประมาณ 3 ผล แช่น้ำร้อนประมาณ 1 แก้วแล้วชงดื่ม โดยอาจผสมน้ำผึ้ง เติมเกลือเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ โดยให้ดื่มตอนท้องว่างหรือก่อนอาหารเช้า จะทำให้ละลายเสมหะ แก้เจ็บคอ ทำให้ชุ่มคอ

ผลสดหรือผลตากแห้ง อันนี้เป็นอีกสูตรไม่จำกัดว่าเป็นผลสด หรือผลตากแห้ง โดยสูตรนี้จะใช้ผลมะขามป้อมประมาณ 15 ลูก ต้มน้ำหนึ่งกา โดยดื่มต่างน้ำ เป็นยาบำรุงธาตุ (คำว่าธาตุในทางแพทย์แผนโบราณ หมายถึงระบบย่อยอาหาร และลำไส้นะครับ) ขับปัสสาวะ แก้หวัดคัดจมูก และบรรเทาอาการเจ็บคอ

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมะขามป้อม

นอกจากมะขามป้อมจะมีสรรพคุณทางสมุนไพรแล้ว ปัจจุบันก็มีการวิจัยถึงสรรพคุณของมะขามป้อมในเชิงลึกมากขึ้น เช่น

  1. มีสารต้านเชื้อไวรัส มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์    HIV – 1 Reverse Trascriptase (เหมือนในยาต้านไวรัสเอดส์)
  2. ผลของมะขามป้อม ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร จะไปลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ที่จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  3. ผลของมะขามป้อมมีสารบางตัวที่ ยับยั้งการเกิดความเป็นพิษ ในตับ และไต  ที่เกิดเนื่องมาจาก โลหะหนัก เช่นตะกั่ว  แดดเมียม (คนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงต่อโลหะหนัก) ซึ่งวัดโดยการทดลองในหนูทดลอง
  4. มะขามป้อม มีสารที่ ลดการกลายพันธุ์ ลดการเกิดเกิด โครโมโซมที่ผิดปกติ ทำให้อัตราการกลายพันธ์ลดลง (การกลายกลายพันธ์นี้พูดถึงเรื่องความสมบูรณ์ของบุตร และการเกิดโรคทางพันธุกรรมต่างๆ)

นี่แหละครับเป็นสรรพคุณด้านสมุนไพรไทย รวมไปถึงงานวิจัยต่างๆ ของมะขามป้อม อ่านจบคงพอจะรู้แล้วว่านะครับว่า มะขามป้อมทำให้ ชุ่มคอชื่นใจ  ได้อย่างไร ปัจจุบันนี้มะขามป้อมก็ไม่ได้หายากอะไร เพราะมีการนำมาแปรรูป ตากแห้งแพ๊คใส่ถุงสวยงาม ติดฉลากบรรยายสรรพคุณเสร็จสรรพ ยังไงก็ลองหามาทานดูนะครับตามงาน OTOP หรือถ้าบ้านใครมีเป็นต้นเลย ยิ่งดีใหญ่ ลองเด็ดมาชิมดูบ้างก็คงไม่เสียหลาย

 

 

 

ต.ค. 102012
 

หากพูดถึงผลไม้ที่เนื้อในเป็นสีเหลือง หลายคนคงบอกว่ามีเยอะ ถ้าถ้าบอกว่า พืชที่เป็นทั้งผักและผลไม้ และมีสีเหลืองหล่ะ แน่นอนคำตอบคือหัวข้อของเราในวันนี้ ฟักทองนั่นเองครับ สำหรับฟักทองนั้นเราสามารถใช้เป็นผักได้เช่นเอามาแกง อย่างนี้เขาเรียกฟังทองเป็นผัก แต่ถ้าเอามานึ่งทานทำขนม อันนี้จะกลายเป็นผลไม้ทันที แต่ไม่ว่าจะเป็นผักหรือผลไม้ ฟักทองนั้นเป้นพืชที่มีคุณค่าสูงตัวหนึ่งที่เราควรทำความรู้จัก ทั้งในแง่ของสารอาหารและในแง่ของพืช สมุนไพรไทย

มารู้จักกับฟักทองกัน

ฟักทองชื่อโดยทั่วไป  ฟักทอง , Pumpkin

ชื่อทางวิทยาศาสตร์   Cucurbita maxima Duchesne.

ชื่อวงศ์   CUCURBITACEAE

ชื่อตามภูมิภาคหรือตามท้องถิ่น

หมากอึ (ภาคอิสาน) มะฟักแก้ว (ภาคเหนือ) มะน้ำแก้ว (เลย) น้ำเต้า (ภาคใต้) หมักอื้อ (เลย-ปราจีนบุรี) หมากฟักเหลือง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) เหลืองเคล่า หมักคี้ล่า

ลักษณะของฟักทอง

ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุก(สู้ไม่ถอยอีกแล้ว)  ที่มีลำต้นเป็น เถาอาศัยเลื้อยไปตามพื้นดิน หรือหลักยึดต่างๆเช่นริมรั่ว หรือค้างที่คนทำไว้ให้  ตามเถาจะมีมือเอาไว้เกาะยึดสิ่งต่างๆ เพื่อความมั่นคงของต้น เถามีขนาดยาว ใหญ่ และมีขน ปกคลุม อยู่ มีสีเขียว

ใบ ออกใบเดี่ยว ตามลำเถา ใบของฝัก ทองเป็นแผ่นใหญ่สีเขียว แยกออกเป็น 5 หยักและมีขนสาก ๆ มือ ปกคลุมอยู่ทั่วทั้งใบ

ดอก ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบ และที่ ส่วนยอดของเถา ลักษณะของดอกเป็นรูปกระดิ่ง หรือระฆังสีเหลือง ในดอกตัวเมียเมื่อบานเต็มที่แล้ว จะมองเห็นผลเล็กๆ เป็นกระเปาะติดอยู่ใต้ดอก

ผล มีขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นพูกลมจะมี ส่วยใหญ่เป็นทรงแบน และมีทรงสูงอยู่บ้าง เปลือกของผลจะแข็ง ผิวลักษณะขรุขระ มีทั้งสีเขียวหรือสีน้ำตาลแดงก็ตามแต่พันธ์ของฟักทอง เนื้อในผลสีเหลือง มีเมล็ดสีขาว  นึกไม่ออกนึกถึงเมล็ดฟักทองตามือ (เจ้าของบริษัทผ่านมาอ่าน ขอค่าโฆษณาด้วยนะครับ)

คุณค่าทางอาหารและสรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทยของฟักทอง

เนื่องจากประโยชน์ของฟักทองมีมากมายจริงๆ จึงขอแยกย่อยเป็นข้อๆและคัดมาเฉพาะส่วนสำคัญให้ได้อ่านกัน

1.ฟักทองนั้นเป็นพืชที่ให้พลังงานต่ำ อาจขัดกับความคิดของหลายๆคน แต่จากการวิจัยเทียบกับพืชชนิดอื่นถือว่าต่ให้พลังงานต่ำ มีไขมันน้อย จึงเหมาะแก่คนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก (ทานฟักทองเป็นมื้อหลักช่วยควบคุมน้ำหนักได้ แต่ทานฟักทองเป็นของหวาน หลังจากทานข้าวขาหมูเสร็จ ฟักทองไม่ช่วยอะไรนะครับ) อีกทั้งฟักทองยังมีกากไยมากสามรถช่วยระบบขับถ่ายได้เป็นอย่างดี

2.คาร์โบไฮเดรตในฟักทอง ช่วยรักษาและบรรเทาอาการ แผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ในส่วนบนได้ด้วย คนที่เป็นโรคกระเพาะแนะนำเลยครับ ทานฟักทองนึ่งไปไม่ผิดหวัง อาการปวดท้องของท่านจะบรรเทาเบาบาง แบบไม่ต้องพึ่งแอนตาซิล (เชยเนาะสมัยนี้เขาต้อง กราวิสคอนแล้ว) แต่ถ้าเป็นมากๆแนะนำให้หาหมอนะครับ

3.จากการวิจัยพบว่า สามารถช่วยบรรเทาอาการหอบหืดที่เกิดจากหลอดลมอักเสบในผู้สูงอายุได้

4.หากรับประทานฟักทองทั้งเปลือกจะสามรถกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ซึ่งสารตัวนี้เป็นสารที่ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย หากขาดสารตัวนี้ หรือการหลั่งอินซูลินผิดปรกติ จะทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ นอกจากนี้การรับประทานทั้งเปลือกยัง สามรถควบคุมความดันโลหิต บำรุงตับ บำรุงไต บำรุงดวงตา และสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์เก่าที่เสื่อมสภาพได้อีกด้วย

5.ในฟักทองมีคอลลาเจนตามธรรมชาติ จะช่วยทำให้ผิวพรรณผ่องใส (แต่ไม่ถึงขั้นขาววิ้งนะครับ)

6.สตรีหลังคลอดบุตรหากทางฟักทอง ซึ่งตามตำราสมุนไพรไทยเขาเรียก”มีฤทธิ์อุ่น” จะช่วยย่อยอาหารทำให้กระเพาะอุ่น บำรุงกำลัง และลดการอักเสบ แก้ปวดได้ดีมากๆ

นี่แหละครับประโยชน์ของผลฟักทอง แต่ยัง ยังไม่หมดนอกจากผลแแล้วส่วนอื่นๆของฟักทองก็มีประโยชน์ไม่น้อย ลองมาดูกัน

  • ใบอ่อนของฟักทอง (ใบแก่ไม่พูดถึงนะครับเพราะทานลำบาก) เชื่อหรือไม่ว่าในใบอ่อนมีวิตามินซีสูงเท่ากับเนื้อฟักทอง นอกจากนั้นยังมีฟอสฟอรัส สูงกว่าในเนื้อฟักทองเสียอีก
  • ดอกของฟักทอง ในดอกมีวิตามิน A แคงเซียม และฟอสฟอรัส แถมยังมีวิตามินซีด้วยเล็กน้อย
  • เมล็ดฟักทอง ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต ฟอสฟอรัส โปรตีนและวิตามิน และที่สำคัญยังมีสารที่ชื่อ คิวเคอร์บิตาซิน ( Cucurbitacin ) สารตัวนี้สามรถกำจัดพยาธิจำพวกพยาธิตัวตืดได้อีกด้วย และเมล็ดฟักทองยังมีสรรพคุณขับปัสสาวะ ป้องกันการเกิดนิ่ว และป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้เป็นอย่างดี
  • น้ำมันจากเมล็ดดอกฟังทอง ช่วยบำรุงประสาทได้ดี อีกทั้งยังมีกรดอะมิโนบางชนิด ที่ป้องกันต่อมลูกหมาก ของท่านชายขยายใหญ่ขึ่น ช่วยปรับระดับฮอร์โมนเพศชายที่ได้จากอัณฑะให้อยู่ในระดับปรกติ
  • รากฟักทอง นำมาต้มใช้ดื่มแก้ไอได้ และยังช่วยบำรุงร่างกาย
  • เยื่อที่อยู่กลางผล ก็ส่วนที่เราคว้านทิ้งเวลาเอาฟักทองมาทำอาหารนี่แหละ ซึ่งเยื่อตัวนี้สามรถนำมาพอกแผลได้ แก้อาการฟกช้ำปวดอักเสบได้อย่างดี

การนำฟักทองไปใช้

หัวข้อนี้คงไม่ขอพูดอะไรมาก แต่ขอยกตัวอย่างเมนูบางส่วนจากฟักทองก็แล้วกัน เมนูที่แนะนำคือ แกงเผ็ดเนื้อใส่ฟักทอง  แกงเลียง ฟักทองผัดไข่ ส่วนของหวานก็มี สังขยาฟักทอง (อันนี้ชอบมากเป็นการส่วนตัว) ขนมฟักทอง บวดฟักทอง ฟักทองนึ่ง ฟักทองเชื่อม และอื่นๆที่ไม่ได้กล่าว

คำแนะนำเพิ่มเติม

– การเลือกฟักทองควรเลือกพันธ์ที่มีรสหวาน เนื้อละเอียด จะมีสรรพคุณทางยามาก (เรื่องรสหวานเนื้อละเอียดถามคนขายดูได้ถ้าเขาไม่โกหก โดยส่วนใหญ่พันธ์ผสมจะเป็นที่นิยม)

– การทานฟักทองมากเกินไปจะทำให้ผิวเหลือง แน่นท้อง ผู้รู้เขาแนะนำว่าการใส่กระเทียมเจียวกับเต้าเจี๊ยวในผัดฟักทอง จะชาวยลดการแน่นท้องลงได้

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก กรมแพทย์ทางเลือก และหนังสือ อาณาจักรพืชผัก สมุนไพรสร้างสมอง

 

ต.ค. 092012
 

พืชที่เราบริโภคลำต้นใต้ดิน หรือเรียกกันแบบบ้านๆว่าหัว นั้นมีอยู่หลายชนิด ที่ได้รับความนิยมหน่อยก็พวก กระชาย หรือข่า ซึ่งเป็นสมุนไพรไทยที่เราได้เคยพูดกันมาแล้ว (ตามอ่านได้) แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงพืชชนิดหนึ่งกัน ที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครตรงที่เมื่อนำหัวมาฝนจะให้สีเหลืองที่สวยงาม นึกออกแล้วใช่ไหมครับว่าผมพูดถึงอะไร สมุนไพรไทยชนิดนั้นก็คือขมิ้นชัน หรือขมิ้นนั่นเอง

 มาทำความรู้จักกับขมิ้นกัน

ขมิ้น หรือ ขมิ้นชันชื่อวิทยาศาสตร์ของขมิ้น  : Curcuma longa Linn

ชื่อในภาษาอังกฤษ  : Turmaric

ชื่ออื่นๆ   :  ขมิ้น ขมิ้นแกง  ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว หมิ้น ขมิ้นป่า ขมิ้นทอง   ขมิ้นดี  ตายอ

ลักษณะของขมิ้น  : เป็นพืชที่ไม่ท้อถอย (พืชล้มแล้วลุก)  สูงไม่มากประมาณ  30-90 ซม. เหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้องข้างในสีเหลืองเข้ม (ใช้คำว่าเหลืองอ๋อย คงจะเหมาะ)   มีกลิ่นที่หอมเฉพาะตัว ใบเป็นใบเดี่ยวแทงออกมาจากเหง้า  ดอกออกเป็นช่อ มีก้านชช่อแทงออกมาจากเหง้า แทรกขึ้นมาระหว่างก้านใบ กลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน ผลรูปกลมมีสามพู

สรรพคุณของขมิ้นชันทางด้านสมุนไพรไทย  เหง้าขมิ้นชันมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ตามธรรมชาติ ลดการอักเสบ และยังช่วยป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย มีสรรพคุIในการขับลม บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ รักษาฝี แผลพุพอง อาการแพ้และอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย

สรรพคุณของขมิ้นชันทางด้านโภชนาการ 

ในขมิ้นชันมีวิตามิน AEC (หรือประชาคมเศรษกิจอาเซียน ไม่ใช่แล้ว) คือเจ้า วิตามิน A,C,E ทั้งสามตัวจะเข้าสู่ร่างกายพร้อมๆกันจึงมีผลมากมาย เฉพาะในเรื่องของมะเร็งก็เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็งตับ และกำจัดเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารที่รับประทานเข้าไปแล้ว เตรียมก่อตัวเป็นเซลล์มะเร็ง    ส่วนในเรื่องอื่นๆที่เขาวิจัยก็มี เรื่องการช่วยลดไขมันในตับ สมานแผลในกระเพราะอาหาร ช่วยย่อยอาหาร ทำความสะอาดลำไส้ เปลี่ยนไขมันให้เป็นกล้ามเนื้อ  นับว่าสรรพคุณค่อนข้างดีมากๆ

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเพิ่มเติม เช่นป้องกันการแข้งตัวของเลือด การเป็นสารต้านมะเร็งเนื้องอกต่างๆ รวมถึงยังมีการใช้เป็ยาต้านเชื้อในผู้ป่วย HIV ย้ำนะครับว่าอยู่ในขั้นการทดลอง และขมิ้นชันเองมีคุณสมบัติกระตุ้นภูมิคุ้มกันซึ่งเหมาะมาก กับคนที่เป็นหวัด หรือแพ้อากาศบ่อยๆ

สูตรยาสมุนไพรไทยจากขมิ้นชัน

1.สูตรยาแก้โรคกระเพาะ แก้ท้องร่วง แก้ท้องอืด ใช้เหง้าแก่สด ยาวประมาณ 2 นิ้ว เอามาขูดเปลือกล้างน้ำให้สะอาด ตำให้ละเอียด เติมน้ำและคั้นแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง

2.สูตรยาภายนอก ทาแก้ผื่นคันโรคผิวหนัง แผลพุพอง ชันนะตุ และหนังศรีษะที่เป็นผื่น ให้ใช้เหง้าแก่แห้ง ไม่จำกัดจำนวน ป่นเป็นผงให้ละเอียด ใช้ทาตามบริเวณที่เป็นผื่นคัน โดยในเด็กใช้กันมาก

ข้อควรระวังในการใช้  เมื่อมีประโยชน์ ย่อมต้องมีสิ่งที่ต้องระวังบ้างเป็นธรรมดา ลองมาดูกันเลย

  •  การใช้ผงขมิ้นเป็นยารักษาโรคกระเพาะ ถ้าใช้ปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะได้
  • บางคนอาจมีการแพ้ขมิ้นโดยอาการคือ คลื่นไว้อาเจียน ท้องเสีย ปวดหัว นอนไม่หลับ ให้หยุดยาทันที บางคนอาจทานอาหารใต้ไม่ได้ ทานแล้วท้องเสียไม่แน่อาจเกิดจากสาเหตุการแพ้ขมิ้นในอาหารก็เป็นได้
  • ไม่ควรซื้อผวขมิ้นชันตามตลาดควรทำเอง เพราะตามตลาดเขาใช้ขมิ้นอ้อย และกรรมวิธีมักผ่านความร้อน ทำให้สูญเสียน้ำมันหอมระเหยไป

 

ต.ค. 092012
 

เมื่อตอนที่แล้วได้พูดถึงกะหล่ำปลีธรรมดา หรือกะหล่ำปลีสีเขียวไป  เพื่อไม่ให้พืชอีกพันธ์ที่คล้ายกันต้องน้อยใจ ผมเลยต้องขอพูดถึงกระหล่ำปลีม่วงบ้าง เพราะนอกจากสีที่ต่างกันแล้ว ยังมีรายละเอียดในด้านคุณค่าบางส่วนที่แตกต่างกัน จะขอพูดถึงสรรพคุณด้านสมุนไพรไทย แยกย่อยเป็นข้อๆดังนี้

คุณค่าของกะหล่ำปลีม่วง

กะหล่ำม่วง หรือกระหล่ำปลีม่วง1. กะหล่ำปลีม่วงจะอุดมไปด้วยสาร อินไทบิน(intybin) ทีมีส่วนสำคัญมากในระบบเผาผลาญอาหารของคนเรา เพราะช่วยกระตุ้นเลือดไปหล่อเลี้ยงตับ ถุงน้ำดี และกระเพาะอาหารที่ดีขึ้น  เมื่อเลือดไปเลี้ยงดีแล้วระบบพวกนี้จึงมีความสมบูรณ์

2. กะหล่ำปลีม่วงจะอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก จึงช่วยเสริม ฮีโมโกลบิน ที่เป็นสารที่ทำหน้าที่จับและพาออกซิเจนไปกับเม็ดเลือดแดงเพื่อไปเลื้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย หากเราขาดสารนี้จะทำให้เป็นโรคโลหิตจาง ซึ่งสารฮีโมโกลบินนี้นอกจากพบในพืชแล้วยังพบในพวกเครื่องในสัตว์เช่นตับสัตว์ แต่ตับสัตว์มีคอเรสเตอรอลค่อนข้างสูง กะหล่ำปลีม่วง จึงป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

3. กะหล่ำปลีม่วงมีสาร เอส มีไทล์เมทิโอนีน (S-methylmethionine) หรือที่เรียกกันคือวิตามินยู ชื่อไม่คุ้นเลยว่าไหมครับ แต่ทางการแพทย์มีการใช้ สารเอส มีไทล์เมทิโอนีน หรือวิตามินยู ในการช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและช่วยบรรเทาอาการปวดท้องที่มีสาเหตุจากแผลในกระเพาะและช่วยให้การหลั่งของน้ำย่อยเป็นปกติ  นอกจากนั้นสารเอส มีไทล์เมทิโอนีน หรือวิตามินยู ยังช่วยต้านมะเร็งคือสามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในลำไส้ได้ แถมยังช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญของฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกาย

4.สามารถใช้ประคบเต้าคม เพื่อบรรเทาอาการปวดตีงคัดเต้านมเช่นเดียวกับกะหล่ำปลีเขียว

5.ในกะหล่ำปลีม่วง มีวิตามินซีสูงกว่า กะหล่ำปปลีสีเขียวถึงสองเท่า (เรียกว่าเกทับกันเห็นๆ) คุณค่าของวิตามินซีเราคงไม่ขอพูดถึงมากเพราะพูดกันในหลายๆบทความแล้ว

6.กะหล่ำปลีม่วงจะช่วยลดระดับคอเรสเตอรอลได้ และนอกจากกนี้ยังมีสารซัลเฟอร์ในการช่วยระบบประสาทให้นอนหลับดี โดยอาศัยกลไกเดียวกับกะหล่ำปลีเขียว

 

การบริโภคกะหล่ำปลีม่วง

สำหรับการบริโภคกะหล่ำปลีม่วงจะต่างกับกะหล่ำปลีเขียวหน่อยตรงที่ว่า กะหล่ำปลีม่วงนิยมทานสดมากกว่า เช่นสลัดก็มีการหันฝอยเพื่อเพิ่มสีสัน ข้อแนะนำอย่างหนึ่งคือ การนำมากะหล่ำปลีม่วงมาประกอบอาหารระวังอย่าให้ผ่านความร้อนนาน เพราะจะทำให้สูญเสียคุณค่าวิตามิน

 

ข้อควรระวัง ไม่ควรรับประทานกะหล่ำปลีดิบครั้งละมากๆ เพราะมันมีสาร Goitrogen ซึ่งจะขัดขวางการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อทไทรอยด์นำไอโอดีนที่อยู่ในเลือดไปใช้ได้น้อย ทำให้เกิดภาวะขาดไอโอดีน ฉะนัน้ทานอะไรก็ควรทานแต่พอดี สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกับพืชอื่นๆบ้างจะช่วยให้ได้คุณค่าอย่างครบถ้วน

ต.ค. 082012
 

วันนี้เพิ่มอีกหนึ่งเรื่อง คราวนี้ขอพูดถึงเรื่องผักบ้าง แถมเป็นผักที่พบเห็นได้ง่ายๆ ชนิดว่าคงไม่มีใครไม่เคยทาน เอาง่ายๆเดินไปซื้อลูกชิ้น เชื่อไหม 6ใน10 ร้านต้องมีผักชนิดนี้แถมให้ (ไม่ได้วิจัยจริงๆจังๆนะครับแค่จากประสบการณ์ บางทีอาจมี แตงกวา บ้างก็ว่ากันไป)นั่นก็คือกะหล่ำปลีนั่นเอง เขียนให้ถูกนะครับ”กะหล่ำปลี” ไม่ใช่ “กะหล่ำปี ” กะหล่ำที่พบตามท้องตลาด โดยส่วนใหญ่จะมีอยู่สองสี คือแดงกับเหลือง เอ๊ยเขียวกับม่วงในบทความนี้จะเน้นที่กะหล่ำปลีธรรมดา หรือกะหล่ำปลีสีเขียวก่อน ไว้มีโอกาศจะเล่าถึงกะหล่ำปลีสีม่วง หรือกะหล่ำปลีม่วงถ้าโอกาศเอื้ออำนวย

คุณค่าของกะหล่ำปลี 

กะหล่ำปลี ลักษณะใบของกะหล่ำปลี หรือที่คนชอบเรียก ดอกกะหล่ำนอกจากนำมากินเป็นผักสด หรือประกอบอาหารแล้ว ในคุณค่าความเป็นสมุนไพรไทยของมันยังมีอีกเพียบ ขอแยกเป็นข้อๆปล้องๆดังนี้

1.มีวิตามินซีสูง ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีงานวิจัยออกมาว่า กะหล่ำปลีสีเขียว จะสามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ในผู้ชายได้สูงถึงร้อยละหกสิบหก ( 66 เปอร์เซ็นต์)อีกด้วย และนอกจากนี้วิตามินซียังสามรถป้องกันโรค เลือดออกตามไรฟัน ช่วยย่อยอาหารและล้างสารพิษ

2.มีใยอาหารหรือไฟเบอร์สูง จะช่วยกระตุ้นระบบการย่อยอาหาร กระตุ้นลำไส้ใหญ่ ช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายได้เป็นอย่างดี

3.มีกรดทาร์ทาริก *ช่วยยับยั้งไม่ให้แป้งและน้ำตาลจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป เปลี่ยนกลายเป็นไขมันส่วนเกิน สะสมอยู่ตามร่างกาย จึงเหมาะมากๆกับคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

*เพิ่มเติมข้อมุลนิดนึงนะครับ กรดตาร์ตาริก (tartaric acid) คือ กรดอินทรีย์ (organic acid) พบตามธรรมชาติในผักผลไม้ และเป็นกรดที่พบในไวน์  มีสูตรทางเคมีคือ  C4H6O6  อยู่ในรูป L-Tartaric acid อาจเรียกว่า L-2-3-Dihydroxysuecinic acid หรือ L-2,3-Dihydroxybutanedioic (ข้อมูลจากจากสารานุกรมอาหาร)

4.อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส ที่ทีส่วนสำคัญในเรื่องของการสร้างกระดูกและฟัน ซึ่งยิ่งแก่ตัวไป หรือเด็กๆ ยิ่งจำเป็นมากๆ

5.กะหล่ำมีสารซัลเฟอร์ สารตัวนี้จะช่วยระงับประสาท ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จึงทำให้นอนหลับดีขึ้นนั่นเอง

6.กะหล่ำปลีมีสารต้านการอักเสบ ของแผลในกระเพาะ และลำไส้ ช่วยกระตุ้นให้เซซล์ที่ทำหน้าที่บุเยื่อกระเพาะสร้างสารคัดหลั่งเพื่อช่วยเคลือบผิวทางเดินอาหาร จึงป้องกันโรคกระเพาะและลำไส้ได้ ไม่แปลกเลยที่ส้มตำเผ็ดๆ หรืออาหารที่มีรสเผ็ดคนโบราณจึงให้นิยมทานกับกะหล่ำ

7.สำหรับสาวๆกะหล่ำปลี สามารถบรรเทาอาการปวดคัดตึงเต้านมได้อีกด้วย โดยใช้กะหล่ำปลีมาประคบเต้านมข้างละใบ (คิดว่าคงพอเพียงกับขนาดหญิงไทยมาตรฐาน) และใช้ผ้าพันไว้ 20 โดยไม่ต้องนวดคลึงอาคารปวดบวมคัดตึงจะหายไปเอง

การนำไปใช้

จริงๆในหัวข้อนี้ผมคงไม่ต้องลงรายละเอียดมากเพราะกะหล่ำเองนำไปบริโภคได้ทุกส่วนอยู่แล้ว ตั้งแต่ใบ กาบใบ สามรถเอามาทำอาหารหลายชนิด ขอยกตัวอย่างเช่น กะหลำปลีผัดกับหมู ต้มจืด บะช่อหมูสับ กะหล่ำยัดไส้ (น้ำยายไหล) หรือถ้าไม่ประกอบอาหารจะทานสดๆก็ไม่พรบ.หรือรัฐธรรมนูญมาตราใด เช่นนำมากินแกล้มกับลาบ ส้มตำ ลูกชิ้นปิ้งได้หมด หรือจะนึ่งจิ้มน้ำพริก ทานกับปลานึ่งอันนี้ก็แจ๋ว

ข้อควรระวังในการใช้กะหล่ำปลี

เวลาที่เราซื้อกะหล่ำมาจากตลาด แน่นอนผักออแกนิค(ปลอดสารพิษ) มันไม่ได้ขายกันทุกตลาดฉะนั้นทางที่ดีที่สุด ล้างให้สะอาดก่อนเพราะลักษณะของกะหล่ำปลีอาจจะทำให้เก็บยาฆ่าแมลงไว้ได้มาก อาจใช้น้ำผสมเกลือหรือน้ำช้มสายชูล้าง จะทำให้ชำระล้างสารพิษได้มาก

ทานกะหล่ำปลีให้อร่อยนะครับทานเผื่อผมด้วย ไว้คราวหลังจะนำเรื่องพืชผักสมุนไพรไทยดีๆมาฝากอีก

ขอบคุณหนังสืออาณาจักรพืชผัก สมุนไพรสร้างสมอง สำหรับข้อมูล

 

 

ต.ค. 032012
 

หากจะพูดถึงจังหวัดนครปฐม ของดีขึ้นชื่อของที่นั่นอยู่ในคำขวัญจังหวัดอยู่แล้ว แต่มันมีหลายอย่าง แน่นอนเข้าเว็บ ไทยสมุนไพร..net จะให้นึกถึงอะไรเป็นอย่างแรกเสียไม่ได้ ถ้าไม่ใช่….. ลูกสาวสวย   …..เอ๊ยส้มโอหวานต่างหากล่ะ (เกือบหลุดแล้ว)  ส้มโอนั้นเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วย วิตามิน ซี  และแคลเซียมสูง ผลจะนำมาทานเมื่อสุกแล้ว ใครกินส้มโอดิบคงพิลึก นอกจากทานสดสดแล้วนั้น ยังเอามาทำอาหารได้อีก ที่นิยมก็คือยำส้มโอ ไว้วันหลังมีโอกาศจะเอาสูตรเด็ด ยำส้มโอมาลง  เปลือกส้มโอมีรสขมนิยมนำไปแช่อิ่ม  นอกจากนี้ที่ประเทศจีนนิยมทำเป็นยาแก้ไอ และผสมยาหอมรับประทาน

มาพูดถึงรูปร่างลักษณะของส้มโอกันบ้าง

ผลส้มโอ หรือ ลูกส้มโอ ลักษณะของ ส้มโอลำต้นของส้มโอ ลักษณะของส้มโอ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 8-9 เมตร ลำต้นสีน้ำตาล

ใบส้มโอ   มีใบเดี่ยว รูปมนรี ขอบใบเป็นคลื่น  เล็กน้อย ปลายใบมนเช่นเดียวกับโคนใบ

ดอก   ออกดอกเดี่ยว  หรือเป็นช่อ อยู่ตามง่ามใบ มีสีขาว มีกลีบดอก 4 กลีบ 

ผล  ทุกท่านคงจะเคยผ่านตามาบ้าง รูปร่างกลมโต เปลือกหนา มีต่อมน้ำมันมาก ผลอ่อนจะมีสีเขียว ผลแก่หรือผลสุกจะมีสีเหลืองอ่อน และมีสีชมพู มีรสหวานอมเปรี้ยว มีเมล็ดอยู่ภายใน

 

และแล้วก็มาถึงไฮไลท์นั่นคือ สรรพคุณทางด้าน สมุนไพรไทย ของส้มโอ

ผลส้มโอ มีสรรพคุณขับลมในลำไส้  แก้เมาเหล้า (อันนี้ชอบ)

 เปลือกของผลส้มโด จะช่วยขับเสมหะ จุกแน่นหน้าอก ตามตำราโบราณบางตำราบอกว่า  บรรเทาไส้เลื่อนได้ด้วย ซึ่งยังไม่มีหลักฐานรับรองตรงนี้ ซึ่งอาจจะมีสรรพคุณตรงนี้ตามที่ตำราโบราณเขียนไว้ก็ได้ เพราะคนโบราณเขาศึกษาจากการสังเกต แน่นอนต้องรองานวิจัยอื่นๆต่อไป

ใบส้มโอ นำมาต้มพอกศรีษะ บรรเทาอาการปวดหัว นอกจากนั้นยังเป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้ออีกด้วย

ดอกส้มโอ  แก้อาการจุกสียดในกระบังลม กระเพาะอาหาร

เมล็ดส้มโอ มีประโยชน์ในเรื่องของ แก้หวัด แก้ไอ ปวดท้องน้อยและกระเพาะอาหาร รวมไปถึงเรื่องของการแก้ไส้เลือน ซึ่งอันนี้เป็นกรณีที่ต้องค้นคว้าต่อเหมือนเปลือกของส้มโอ

 

นอกจากนั้นแล้วส้มโอยังมี วิตามินซี อันนี้คงพอทราบกันในเรื่อป้องกันเลือดออกตามไรฟัน และเป็น สารต้านอนุมูลอิสระ รวมไปถึงในส้มโอยังมีแคลเซียม ซึ่งเสริมสร้างและบำรุงกระดูกและฟันได้เป็นอย่างดี

 

ทั้งหมดนี้คือที่ผมนำมาฝาก ไปตลาดเห็นส้มโอ ก็อุดหนุนแม่ค้าสักคนละสูกสองลูกนะครับ

ปอลอ ช่วงนี้เขียนเรื่องผลไม้เยอะหน่อยอย่าว่ากันนะครับ  วันต่อๆมาอาจจะมีผักสมุนไพร และพืชสมุนไพรอื่นทยอยมาเพิ่ม อยากให้เขียนเรื่องไหน สมุนไพรอะไร ก็ comment มาบอกกันได้นะครับ

 

ก.ย. 292012
 

ทับทิม เป็นพืชสมุนไพรไทย หรือจะเรียกว่าเป็น ผลไม้สมุนไพรก็ได้ ด้วยรสชาติที่หอมหวานจึงมีคนนำทับทิมมาประยุกต์เป็นอาหารที่หลาหลาย เช่นนำมาใส่ของหวาน ทำทับทิมลอยแก้ว นอกจากนี้ในด้านการเป็นสมุนไพร ทับทิมยังมีสรรพคุณต่างๆอีกมากมาย

ทับทิม สมุนไพรไทยข้อมูลทั่วไปของทับทิม
ชื่อวิทยาศาสตร์   Punica granatum Linn.
ชื่อวงศ์ PUNICACEAE

ชื่อเรียกตามแต่ละท้องถิ่น
มะแก๊ะ (เหนือ) มะก่องแก้ว พิลาขาว (น่าน) หมากลิง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) พิลา (หนองคาย) เจียะลิ้ว (จีน)

ลักษณะโดยทั่วไป
ต้น เป็นไม้ยืนต้น หรือไม้พุ่ม ขนาดเล็ก ลักษณะผิวเปลือกลำต้นมีสีเทา ส่วนที่เป็นกิ่งหรือยอดอ่อนจะเป็นเหลี่ยม หรือ มีหนามแหลมยาวขึ้น
ใบ ใบมีลักษณะเป็นรูปยาวรี โคนใบมน แคบ ส่วนปลายใบเรียวแหลมสั้น ผิวหลังใบ เกลี้ยงเป็นมัน ใต้ท้องใบจะเห็นเส้นใบได้ชัด ขนาดของใบกว้างประมาณ 1 – 1.8 ซม. ยาว ประมาณ 2.5 – 6 ซม.
ดอก ดอกออกเป็นช่อ หรืออาจจะเป็น ดอกเดียว ในบริเวณปลายยอด หรือง่ามกิ่ง ลักษณะของดอกมีเป็น สีส้ม สีขาว หรือสีแดง ดอกหนึ่งมีกลีบดอกประมาณ 6 กลีบ ปลายกลีบ ดอกจะแยกออกจากกัน ตรงกลางดอกมีเกสร ตัวเมีย และตัวผู้ซึ่งมีอับเรณูเป็นสีเหลือง ขนาดของดอกบานเต็มที่มีเส้นผ้าศูนย์กลางประมาณ 2 – 3 ซม. ผลมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้าง กลม ผิวเปลือกนอกหนาเกลี้ยง ผลเมื่อแก่หรือ สุกเต็มที่มีสีเหลืองปนแดง และลักษณะของผล จะแตก หรืออ้างออก ข้างในผลก็จะมีเมล็ดเป็น จำนวนมาก เป็นรูปเหลี่ยม มีสีชมพูสด

การขยายพันธุ์ ทับทิมนั้นเป็นพืชที่โตได้ดีในดินปนทรายหรือดินที่มีกรวด สามารถขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง หรือการใช้ เมล็ด

ส่วนที่ใช้ เปลือกลำต้น , ใบ , ดอก, เปลือกผล , เมล็ด , และเปลือกราก

สรรพคุณ

ใบ ใช้ใบสดนำมาต้ม กรองเอาน้ำใช้ล้าง แผลเนื่องจากมีหนองเรื้อรังบนหัว หรือใช้ใบ สดนำมาตำให้ละเอียดแล้วเอาไปพอกในบริเวณที่เป็นแผลถลอก เนื่องจากหกล้มได้เป็น ต้น

เปลือกต้น ในเปลือกของลำต้นจะมีอัลกาลอยด์ประมาณ 0.35 – 0.6 ฺ% และอัลกาลอยด์ในเปลือกของลำต้นนี้ มีชื่อเรียกว่า Pelle tierine และ Isopelletierine ซึ่งเป็นยา ถ่ายพยาธิได้ผลดี

เมล็ด ใช้เมล็ดที่แห้งแล้วประมาณ 6 – 9 กรัม นำมาบดให้ละเอียด หรือทำเป็นยาก้อน หรือยาลูกกลอน กิน เป็นยาแก้โรคปวด จุกแน่น เนื่องจาก โรคกระเพาะอาหาร บำรุงกระเพาะอาหาร ทำ ให้เจริญอาหาร และแก้ท้องร่วง เป็นต้น

เปลือกราก ใช้เปลือกรากที่แห้งแล้ว ประมาณ 6 – 12 กรัม นำมาต้มน้ำกิน เป็นยาแก้ระดูขาว ตกเลือด ถ่ายพยาธิ หล่อลื่นลำไส้ แก้ท้องเสีย และโรคบิดเรื้อรังเป็นต้น

ดอก ใช้ดอกที่แห้งประมาณ 3 – 6 กรัม นำมาต้มกรองเอาน้ำดื่ม เป็นยาแก้ให้เลือด กำเดาแข็งตัว และแก้หูชั้นในอักเสบ หรือใช้ ดอกแห้งนำมาบดให้ละเอียดแล้วใช้ทา หรือโรยบริเวณบาดแผลที่มีเลือดออก

เปลือกผล ใช้เปลือกผลที่แห้งแล้วประมาณ 2.5 – 4.5 กรัม นำมาบดให้ละเอียด หรือนำ มาต้มน้ำกิน ใช้เป็นยาแก้โรคท้องเสีย โรค บิดเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ่ายพยาธิตกขาว ดากออก แผลหิด และกลากเกลื้อนเป็นต้น

 

เป็นไงบ้างครับประโยชน์ของทับทิม ว่าแล้วก็เด็ดมาทานสักลูกจากต้นข้างบ้านดีกว่า

ขอบคุณกรมการแพทย์แผนไทยสำหรับข้อมูล

ก.ย. 242012
 

กล้วยน้ำว้า เป็นผลไม้่ที่หาทานได้ง่ายๆ เหมือนปอกกล้วยเข้าปาก แต่สรรพคุณไม่กล้วยเหมือนชื่อของมันเลยกล้วยน้ำว้า

ข้อมูลทั่วไปกล้วยน้ำว้า สมุนไพรไทย กล้วยน้ำว้า

ชื่อวิทย์ Musa sapientum Linn.
ชื่อวงศ์ Fam. : MUSACEAE
ชื่ออื่น -ลักษณะทั่่วไป
ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นที่เห็นจะเกิดจากก้านหุ้มซ้อนกัน จะมีลำต้นขนาดใหญ่ และสูงประมาณ 25 เมตร
ใบ มีสีเขียว เป็นแผ่นยาว เส้นของใบจะขนานกัน แกนใบจะเห็นชัดเจน
ดอก มีลักษณะที่ห้อยย้อยลงมายาวประมาณ 60 – 130 ซม. เป็นช่อซึ่งเรียกว่า หัวปลี และตามช่อนั้นจะมีกาบหุ้มช่อ
มีสีแดงปนม่วง เป็นรูปกลมรี ยาว 15 – 30 ซ.ม ส่วนทีเป็นฐานดอกจะมีเกสรตัวเมีย ส่วนปลายจะมีเกสรตัวผู้
ช่อดอกจะเจริญกลายไปเป็นผลนั้น เกสรตัวเมียและเกสรตัวผู้จะร่วงไป
ผล เมื่อดอกเจริญกลายเป็นผลแล้ว ผลนี้จะประกอบเป็นหวี เครือละประมาณ 7-8 หวี เมื่อออกผลใหม่จะมีสีเขียว
เมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง แต่ละต้นจะให้ผลครั้งเดียว แล้วตายไป
การขยายพันธุ์ แยกหน่อ หรือแยกเหง้า
ส่วนที่ใช้ ผล หัวปลี หยวกกล้วย

สรรพคุณ
ผล ผลดิบ แก้ท้องเสีย ผลสุก เป็นยาระบาย สำหรับผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร
ยาง สมานแผลห้ามเลือด
ดอก แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้โรคโลหิตจางลดน้ำตาลในเส้นเลือด (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาการเบาหวาน)

 

ก.ย. 232012
 

น้ำกระเจี๊ยบ ผมว่าเราต้องเคยทานกันมาบ้าง ด้วยรสชาติที่เปรี้ยวนิดๆ อาจถูกใจหลายคน แต่จะบ้างไหมว่ากระเจี๊ยบที่เราทานกันนั้นแฝงด้วยคุณค่าสมุนไพรไทยอะไรบ้าง

กระเจี๊ยบ สมุนไพรไทยกระเจี๋ยบแดง

ชื่อวิทย์ Hibiscus sabdariffa Linn.
ชื่อวงศ์ Fam. : MALVACEAE
ชื่ออื่น
กระเจี๊ยบ, กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง)
ผักเก้งเค้ง, ส้มเก้งเค้ง (พายัพ)
ส้มตะเลงเครง, ส้มปู, ส้มพอเหมาะ (ภาคเหนือ) แกงแดง (เชียงใหม่)
ส้มพอดี (ภาคอีสาน)
ลักษณะทั่่วไป
ต้น เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก เป็นพืชปีเดียว ลำต้นสูงประมาณ 1 – 2 เมตร ส่วนลำต้น และกิ่งก้านนั้นจะมีสีม่วงแดง
ใบ มีลักษณะอยู่หลายชนิด ขอบใบเว้าลึก 3 หยัก หรือเรียบตัวใบเป็นรูปรีแหลม สำหรับ ก้านของใบนั้นจะยาว
ประมาณ 5 ซม.
ดอก ดอกมีสีชมพูตรงกลางจะมีสีเข้มกว่า ส่วนนอกดอกจะออกบริเวณง่ามใบ ก้านดอกจะสั้น กลีบรองดอกจะมีลักษณะ
เป็นปลายแหลม มีประมาณ 8 – 12 กลีบ กลีบเลี้ยงจะแผ่ขยาย ติดกันออกหุ้มเมล็ดไว้ มีสีแดงเข้มมีลักษณะที่
หักง่าย มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 ซม.
เมล็ด ส่วนในของเมล็ดรูปไต เป็นสีน้ำตาลมีจำนวนมาก
การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ดในการขยายพันธุ์ จะปลูกขึ้นได้ดีในดินที่ร่วนซุยและดินเหนียวที่ อุ้มน้ำได้ดี
ส่วนที่ใช้ ยอด ใบ กลีบเลี้ยง เมล็ด ยอดและใบ ใช้สด กลีบเลี้ยง ใช้ตากแห้งและใบสด
เมล็ด ใช้เมล็ดที่ตากแห้ง
สรรพคุณ
ยอดและใบ ยอดและใบ ช่วยย่อยอาหาร ละลายเสมหะ ขับปัสสาวะ หล่อลื่นลำไส้ เป็นยาบำรุงธาตุและ ยาระบาย
ใช้ภายนอกก็คือตำพอกฝี ต้มน้ำชะ ล้างแผล วิธีใช้โดยแกงหรือต้มกิน ใช้ภายนอก โดยเอาใบตำ
ให้ละเอียดแล้วนำมาประคบฝี ต้มเอาน้ำมาล้างแผล
เมล็ด ลดไขมันในเลือด บำรุงเลือด บำรุงธาตุ ขับน้ำดี ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัดและเจ็บ เป็นยาระบาย
วิธีใช้บดให้ละเอียดเป็นผง ผสมกินหรือต้มน้ำกิน ใช้เมล็ดที่แห้ง
กลีบเลี้ยง ทำให้สดชื่น ขับปัสสาวะ ขับน้ำดี ลดไข้ แก้ไอ แก้นิ่ว แก้กระหายน้ำ วิธีใช้ โดยใช้ชงน้ำร้อนหรือต้มน้ำกิน
ใช้ที่ตากแห้งแล้วประมาณ 5 – 10 กรัมยา

สารอาหารที่สำคัญ กระเจี๊ยบอุดมไปด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และวิตามินซี นอกจากนี้ยังมีเส้นใยสูง ช่วยให้การขับถ่ายสะดวก ส่วนเมือกเหนียวของกระเจี๊ยบเป็นสารเคลือบกระเพาะ ช่วยรักษาโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบได้ดีอีกด้วย